สุรินทร์- ฮือฮา! พ่อแม่ชาวเมืองช้าง จับลูกแฝด 3 คนอายุ 7 ขวบเข้าพิธีวิวาห์อย่างยิ่งใหญ่ เผยเงินสินสอด 1 แสน ทองคำหนัก 5 บาท ท่ามกลางญาติพี่น้องเข้าร่วมงานคับคั่ง พ่อระบุเป็นการจัดพิธีสมรสเพื่อแก้เคล็ดตามความเชื่อที่หมอดูแนะนำ หวังให้ครอบครัว และลูกฝาแฝดทั้ง 3 คนอยู่ดีมีความสุข
วันนี้ (30 เม.ย.) เมื่อเวลา 09.30 น.ที่บ้านของนายทิพย์ แก้วปั่น อายุ 48 ปี บ้านสวาย หมู่ที่ 10 ต.ตรึม อ.ศีขรภูมิ จ.สุรินทร์ ได้มีการจัดพิธีสมรสเด็กฝาแฝด 3 พี่น้อง ซึ่งเป็นเด็กหญิง 2 คน คือ ด.ญ.จิตรานุช, ด.ญ.จินตภา และเด็กชาย 1 คน คือ ด.ช.ไชยพศ ทิพย์แก้วปั่น อายุ 7 ขวบ ท่ามกลางบรรดาญาติพี่น้อง และเพื่อนบ้านเดินทางมาร่วมงานเป็นสักขีพยานแก่คู่บ่าวสาวเป็นจำนวนมาก บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก
ทั้งนี้ พิธีสมรสดังกล่าวได้มีการจัดพิธีกรรมเหมือนกับพิธีสมรสทั่วไปทุกอย่าง โดยมีสินสอดประกอบด้วย เงินสด 1 แสนบาท ทองคำหนัก 5 บาท และหลังจากประกอบพิธีบายศรีสู่ขวัญแล้ว ได้มีการผูกข้อมือให้คู่สมรสทั้ง 3 คน ซึ่งได้เงินผูกข้อมือจากญาติพี่น้องถึง 19,659 บาทเลยทีเดียว
นายทิพย์ แก้วปั่น พ่อของเด็กฝาแฝด 3 คนที่เข้าพิธีสมรสกันดังกล่าว เปิดเผยว่า ตนได้จัดพิธีสมรสให้ลูกสาวและลูกชายฝาแฝดทั้ง 3 คนเพื่อเป็นการแก้เคล็ดตามความเชื่อที่หมอดูได้ให้คำแนะนำ เพื่อที่จะทำให้ครอบครัว และลูกฝาแฝดทั้ง 3 คนอยู่ดีมีความสุข ไม่มีภัยต่างๆ มารังควาน
ทั้งนี้ ตนแต่งงานอยู่กินกับภรรยามาร่วม 10 ปีแล้วแต่ไม่มีลูกด้วยกัน จึงได้ไปปรึกษาหมอตามโรงพยาบาล และตระเวนไปกราบไหว้บนบานขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งมีใครบอกว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ไหน ก็จะเดินทางไปกราบไหว้ขอให้มีลูกมาเกิดกับตนและภรรยา
กระทั่งเมื่อปี 2548 ภรรยาได้ตั้งครรภ์ เมื่ออายุครรภ์ได้ 7 เดือน 2 สัปดาห์ หมอบอกว่าต้องคลอดลูกด้วยวิธีการผ่าตัดเพราะทารกในครรภ์มีถึง 3 คน จึงได้ทำการผ่าคลอดลูก และได้ลูกแฝด 3 คน เป็นหญิง 2 คน ชาย 1 คนดังกล่าว
เมื่อลูกสาวกับลูกชายทั้ง 3 คนอายุได้ 7 ขวบ ตนจึงได้ไปดูดวง หมอดูแนะนำว่าให้นำลูกฝาแฝดทั้ง 3 คนจัดพิธีแต่งงานกัน ครอบครัวถึงจะได้อยู่ดีมีสุข หากไม่ทำแล้วอาจจะมีอันเป็นไป วันนี้จึงได้จัดทำพิธีสมรสโดยได้เชิญเพื่อนบ้านและญาติพี่น้องมาร่วมงานกันจำนวนมาก นายทิพย์กล่าว
ทางด้าน นายประพงษ์ ศักดิ์วงศ์อนุ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ตรึม อ.ศีขรภูมิ จ.สุรินทร์ ซึ่งได้เดินทางมาร่วมงานพิธีสมรสในครั้งนี้ด้วย เผยต่อผู้สื่อข่าวว่า เป็นพิธีตามความเชื่อของหมู่บ้านเราซึ่งเป็นชุมชนชาวกูย แม้ทุกวันนี้ถึงจะเป็นยุคไอที แต่ตนเห็นว่าหากทำแล้วทุกคนมีความสุข สบายใจก็ควรทำ และไม่ได้มีอะไรเสียหาย เพราะไม่มีใครในโลกนี้อยากมีความทุกข์