แม่ฮ่องสอน - ผู้อำนวยการโครงการชลประทานแม่ฮ่องสอนชี้ หากเกิดแผ่นดินไหวเกิน 7 ริกเตอร์เสี่ยงกระทบอ่างเก็บน้ำแม่ฮ่องสอน ทำน้ำที่กักเก็บมากถึง 7.5 ล้าน ลบ.ม.ทะลักเข้าตัวเมืองภายใน 10-15 นาที
นายกตัญญู ใจชื้น ผู้อำนวยการโครงการชลประทานแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า อ่างเก็บน้ำห้วยแม่ฮ่องสอน เป็นโครงการชลประทานขนาดกลางอันดับ 5 ของประเทศ ซึ่งอยู่ห่างตัวเมืองแม่ฮ่องสอนไปทางทิศตะวันออกประมาณ 3 กิโลเมตร อยู่ในพื้นที่ตำบลปางหมู อ.เมืองแม่ฮ่องสอน มีระดับเก็บกัก 7.5 ล้าน ลบ.ม.ทำนบดินมีความยาว 226 เมตร ความสูง 23 เมตร และอยู่สูงกว่าตัวเมืองมากกว่า 30 เมตร
ผอ.ชลประทานแม่ฮ่องสอนกล่าวอีกว่า อ่างฯ แห่งนี้มีอัตราเสี่ยงสูงเนื่องจากอยู่ใกล้ตัวเมืองแม่ฮ่องสอน หากเกิดแผ่นดินไหวเกินกว่า 7 ริกเตอร์อาจไม่สามารถรองรับความสั่นสะเทือนได้ปริมาณน้ำในอ่าง 7.5 ล้าน ลบ.ม.จะทะลักเข้าท่วมในเขตเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอนภายในเวลา 10-15 นาทีเท่านั้น โดยอ่างฯ แห่งนี้มีความสามารถรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวได้ 7 ริกเตอร์
ทั้งนี้ ตามข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ (2546) พบว่า ประเทศไทยมีรอยเลื่อนกระจายตั้งแต่เหนือจดใต้เป็นจำนวนมากดังนี้
1. รอยเลื่อนพาดผ่านอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอนในแนวทิศเหนือ-ใต้ มีความยาวประมาณ 29 กิโลเมตร
2. รอยเลื่อนขุนยวม พาดผ่านอำเภอขุนยวม และอำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอนในแนวทิศเหนือ-ใต้ มีความยาวประมาณ 62 กิโลเมตร
3. รอยเลื่อนแม่ลาน้อย พาดผ่านอำเภอสบเมย อำเภอแม่สะเรียง และอำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ในแนวทิศเหนือ-ใต้ มีความยาวประมาณ 78 กิโลเมตร
4. รอยเลื่อนแม่ลาหลวง พาดผ่านอำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประกอบด้วยรอยเลื่อนบริวารในแนวทิศเหนือ-ใต้ และแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้สลับกัน มีความยาวประมาณ 34 กิโลเมตร
5. รอยเลื่อนแม่สะเรียง พาดผ่านอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก อำเภอสบเมย และอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประกอบด้วยรอยเลื่อนบริวารในแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ทางตอนล่าง และแนวทิศเหนือ-ใต้ทางตอนบน มีความยาวประมาณ 95 กิโลเมตร