อุบลราชธานี - หน่วยงานท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี เฝ้าระวังมวลน้ำเสียจาก จ.ศรีสะเกษ หลังโรงงานแป้งมันปล่อยน้ำเสียลงสู่ลำน้ำสาธารณะ เผยข้อมูลตรวจสภาพน้ำที่ จ.อุบลฯ ยังอยู่ในภาวะปกติ เตือนผู้เลี้ยงปลาในกระชังลำน้ำมูลให้เฝ้าระวังอีก 2-3 วัน
จากกรณีที่โรงงานแป้งมันใน อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ปล่อยมวลน้ำเสียลงอ่างเก็บน้ำห้วยตามาย และกำลังไหลเข้าสู่จังหวัดอุบลราชธานีตามลำห้วยขะยุง โดยขณะที่มวลน้ำเสียไหลผ่านอำเภอต่างๆ ของจังหวัดศรีสะเกษนั้นทำให้ปลาในลำน้ำตายจำนวนมาก
ความคืบหน้าล่าสุดวันนี้ (31 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสำนักงานประมงจังหวัดอุบลราชธานี ส่งเจ้าหน้าที่เก็บตัวอย่างน้ำในลำห้วยขะยุง ช่วงที่เป็นรอยต่อกับจังหวัดศรีสะเกษรวม 4 จุด
จากการตรวจสอบคุณภาพออกซิเจนพบว่ามีระดับ 7-9 พีพีเอ็ม ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ดี ส่วนค่าแอมโมเนียที่เป็นตัวทำให้สัตว์น้ำตายจากต้นน้ำที่มีค่าแอมโมเนียสูงถึง 5 พีพีเอ็ม หรือคิดเป็น 500 เท่าจากปกติ จากการตรวจสอบลำน้ำห้วยขะยุงตั้งแต่ ต.โนนกาเล็น อ.สำโรง ถึง ต.ห้วยขะยุง อ.วารินชำราบ ค่าแอมโมเนียในน้ำยังมีค่าเป็นศูนย์ ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบทำให้สัตว์น้ำตาย
แต่สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยังคงประกาศเตือนให้หน่วยงานท้องถิ่นเตรียมรับสถานการณ์ เนื่องจากพบว่าสีของน้ำในเขตตำบลโนนกาเล็น อ.สำโรง เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นสีเขียวขุ่น ส่วนผู้เลี้ยงปลาในกระชังในลำน้ำมูลที่อยู่บริเวณปากลำน้ำห้วยขะยุงกว่า 300 กระชัง อาสาสมัครประมงได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันความเสียหาย
ส่วนการกำจัดน้ำเสียออกจากลำน้ำห้วยขะยุง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดนำเครื่องสูบน้ำขนาด 10 นิ้ว ติดตั้งตามลำน้ำรวม 6 จุด เพื่อใช้สูบน้ำเสียที่เริ่มไหลเข้าพื้นที่ ลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นแก่สัตว์น้ำเป็นระยะทางยาวกว่า 20 กิโลเมตร
นายสมเกียรติ พงษ์ศิริจันทร์ ประมงจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวถึงการเฝ้าระวังปลาเลี้ยงในกระชังในลำน้ำมูลว่า มีการแจ้งเตือนผ่านอาสาสมัครประมงให้ทราบสถานการณ์เป็นระยะ และจากการตรวจสอบความเข้มข้นของปริมาณการปนเปื้อนของสารแอมโมเนียในน้ำเขตจังหวัดอุบลราชธานี ยังไม่ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำ แต่สิ่งที่ต้องระวังขณะนี้คือ น้ำมีการเปลี่ยนสี และหากมีฝนตกลงมา จะทำให้ปลาปรับสภาพไม่ทันอาจช็อกตายได้
ด้านนายสมาน มานะกิจ ผู้อำนวยการ สำนักงานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า ได้รับแจ้งจากจังหวัดศรีสะเกษว่าใช้วิธีทำฝายชะลอน้ำแล้วใช้ปูนขาวเทลงในน้ำเสียให้เจือจาง พร้อมทั้งใช้เครื่องสูบน้ำขึ้นไปใส่พื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งเป็นผลดีต่อการเพาะปลูก เพื่อทำให้ปริมาณน้ำเสียในลำน้ำเหลือน้อยและเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำให้น้อยที่สุด
ส่วนการตรวจสภาพน้ำในลำห้วยขะยุงบริเวณรอยต่อระหว่าง จ.ศรีสะเกษกับ จ.อุบลราชธานี ซึ่งมวลน้ำเสียได้เดินทางมาถึงในวันนี้ ค่าออกซิเจนยังอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ก็ไม่วางใจเพราะต้องติดตามตรวจสภาพต่อไปอย่างน้อยอีก 2-3 วัน เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีผลกระทบเหมือนที่เกิดกับสัตว์น้ำในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษต่อไป