xs
xsm
sm
md
lg

กองทัพเรือประสบผลสำเร็จสร้างทุ่นระเบิดปราบเรือดำน้ำแบบล่องหน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทุ่นระเบิดปราบเรือดำน้ำ แบบล่องหน MI 9 และ MI 11 พร้อมทดลอง
ศูนย์ข่าวศรีราชา - กองทัพเรือประสบผลสำเร็จสร้างทุ่นระเบิดปราบเรือดำน้ำแบบล่องหน ขีดความสามารถทำลายสูง พร้อมนำทดลองครั้งแรกบริเวณอ่าวสัตหีบ

วันนี้ (29 มี.ค.) ณ กลางอ่าวสัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี พลเรือตรี ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการกองเรือทุ่นระเบิด พร้อมคณะนายทหารในโครงการวิจัยและพัฒนาทุ่นระเบิดประจำที่ปราบเรือดำน้ำแบบล่องหน (ท่าดินแดง MOD 1) ได้เดินทางมาสังเกตการณ์ทดลองทุ่นระเบิดปราบเรือดำน้ำแบบล่องหน MI 9 และ MI 11

การทดลองครั้งนี้คณะทีมงานวิจัยได้นำทุ่นระเบิดจำนวน 2 ลูกบรรจุระเบิด TNT ลูกละ 50 กิโลกรัมที่ถูกออกแบบการจุดระเบิดออกเป็น 2 วิธี ประกอบด้วย ทุ่นระเบิดหมายเลข 9 จุดระเบิดด้วยเขาสวิตช์ และทุ่นระเบิดหมายเลข 11 จุดระเบิดด้วยเขาสวิตช์และสายดังกล่าว พร้อมลำเลียงขึ้นเรือหลวงท่าดินแดง ออกเดินทางจากท่าเทียบเรือแหลมเทียน ฐานทัพเรือสัตหีบ ไปยังจุดทำการทดสอบบริเวณกลางอ่าวสัตหีบ ห่างจากชายฝั่งออกไปประมาณ 30 ไมล์ทะเล

สำหรับการทดลอง โดยนำทุ่นระเบิดทั้ง 2 ลูก หย่อนลงใต้ทะเลที่ความลึกประมาณ 20 เมตร ก่อนจำลองสถานการณ์ ว่า มีเรือดำน้ำบุกรุกเข้ามาในน่านน้ำ ด้วยการนำแพรที่ดัดแปลงสภาพคล้ายท้องเรือ ลากผ่านทุ่นเพื่อให้กระทบกับเขาสวิตช์ และให้ผ่านสายดักที่ถูกออกแบบให้มีการจุดระเบิดหากมีสิ่งมากระทบ ซึ่งผลการทดลองประสบผลสำเร็จ ระเบิดทำงานตามเป้าที่วางไว้ทั้ง 2 ลูก แรงอัดของระเบิดทำให้น้ำพุ่งสูงจากผิวน้ำถึง 30 เมตร นับเป็นการทำลายที่รุนแรงอย่างมาก

ด้าน พลเรือตรี ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการกองเรือทุ่นระเบิด กล่าวว่า โครงการวิจัยและพัฒนาทุ่นระเบิดทอดประจำที่ปราบเรือดำน้ำแบบล่องหน ซึ่งเป็นอาวุธทางยุทธศาสตร์ เลี่ยงการตรวจจับโซนาร์ เกิดขึ้นในปี 2552 หลังกองเรือยุทธการ ได้แต่งตั้งคณะทำงานจัดทำโครงการจัดหาทุ่นระเบิด และสิ่งอำนวยความสะดวก ตามความต้องการใช้ทุ่นระเบิดของกองทัพเรือใน 10 ปี ข้างหน้าตามแผนป้องกันประเทศ และการประเมินยุทธศาสตร์กองทัพเรือ ปี 2551-2560

ปัจจุบันกองทัพเรือได้มีการวิจัยและพัฒนาทุ่นระเบิดทางรับที่ใช้เทคโนโลยีต่ำให้สามารถผลิตเพื่อใช้งานได้เองมาแล้วระดับหนึ่ง จึงมีนโยบายเร่งส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาให้สามารถผลิตทุ่นระเบิดที่มีประสิทธิภาพสูงมากขึ้น ประจำการให้ได้ในขั้นต้นจำนวนตามความต้องการใช้ของทัพเรือภาคจนสามารถใช้เป็นอาวุธในการป้องปรามได้ในอนาคต ซึ่งผลการวิจัยครั้งนี้นับเป็นผลสำเร็จครั้งสำคัญของกองทัพเรือ ที่จะถูกหยิบยกให้เป็นรูปธรรมในอนาคตอย่างแน่นอน

ด้าน พลเรือตรี ลือชัย กล่าวว่า สำหรับทุ่นระเบิดทอดประจำที่ปราบเรือดำน้ำแบบล่องหน ชนิด MI 9 และ MI 11 เป็นทุ่นระเบิดที่ถูกออกแบบให้มีรูปทรงจานประกบ ตัวภายนอกทำจากวัสดุ FIBER COAT 11 สามารถลดระยะตรวจจับได้ถึงร้อยละ 50 และยังทำให้พลังงานเสียงที่มาสะท้อนถูกดูดซึมเข้าในเนื้อวัสดุ จนไม่เหลือพลังงานสะท้อนกลับ มีระบบการตั้งลึกแบบกลไก และแบบอิเล็กทรอนิกส์ ภายในมีอุปกรณ์ประกอบด้วย เครื่องส่งชนวน ไกยิง ระเบิด TNT และวงจรการทำงานที่ไม่ซับซ้อนมากนัก หาได้จากวัสดุอุปกรณ์ภายในประเทศทั้งสิ้น
คณะนายทหารในโครงการวิจัยและพัฒนาทุ่นระเบิดประจำที่ปราบเรือดำน้ำแบบล่องหน ( ท่าดินแดง MOD 1 ) ที่ร่วมแสดงความดีใจ
เตรียมทดลองทุ่นระเบิดปราบเรือดำน้ำ แบบล่องหน MI 9 และ MI 11 กลางอ่าวสัตหีบ
พลเรือตรี ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการกองเรือทุ่นระเบิด พร้อมคณะนายทหารในโครงการวิจัยและพัฒนาทุ่นระเบิดประจำที่ปราบเรือดำน้ำแบบล่องหน ( ท่าดินแดง MOD 1 )
กำลังโหลดความคิดเห็น