xs
xsm
sm
md
lg

นักดาราศาสตร์ชวนดูปรากฏการณ์ดาวศุกร์เคียงดาวพฤหัสบดี และดาวล้อมเดือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ฉะเชิงเทรา - นักดาราศาสตร์ท้องถิ่น ชวนดูปรากฏการณ์ดาวศุกร์เคียงคู่ดาวพฤหัสบดีที่เห็นได้ด้วยตาเปล่าแบบชัดโดดเด่นอยู่กลางท้องฟ้าฝั่งตะวันตกต่อเนื่องขณะช่วงปลายเดือนให้เฝ้าชมดาวล้อมเดือนเรียงแถวแบบลูกตุ้มตระการตา

วันนี้( 12 มี.ค.55ป เวลา 19.30 น. นายวรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิต นักดาราศาสตร์ภูมิปัญญาท้องถิ่น ชาว จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวเชิญชวนผู้สนใจเฝ้าสังเกตดูปรากฏการณ์บนท้องฟ้า ที่หอดูดาวบัณฑิต ต.บางบ่อ อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา ว่า จะมีปรากฏการณ์ที่น่าสนใจเกิดขึ้นเหนือท้องฟ้าเมืองไทย สำหรับผู้ที่ชื่นชอบสังเกตการณ์ความแปลกตาบนท้องฟ้าได้ดูอย่างเต็มอิ่ม ถึงสองครั้งสองปรากฏการณ์ ในช่วงเดือน มี.ค.55 นี้ คือ ปรากฏการณ์ดาวศุกร์เคียงคู่ดาวพฤหัสบดี(Conjunction) ที่เห็นได้ด้วยตาเปล่าแบบชัดเจนโดดเด่นอยู่กลางท้องฟ้าด้านฝั่งทิศตะวันตกต่อเนื่องกันถึง 3 วัน

โดยปรากฏการณ์ จะเกิดขึ้นในช่วงหัวค่ำของคืนวันที่ 13-14 และ 15 มีนาคมนี้ ทางขอบฟ้าด้านทิศตะวันตกจะเกิดปรากฏการณ์ดาวศุกร์เคียงคู่ดาวพฤหัสบดี ในระยะห่างกันประมาณ 3 องศา ที่หากเฝ้ามองท้องฟ้าแล้วสังเกตการณ์ดู ก็จะทำให้รู้สึกแปลกตาจากประกายแห่งความโดดเด่นเคียงคู่กันของดาวทั้ง 2 ดวงอีกแบบหนึ่ง ที่มนุษย์บนภาคพื้นโลกจะได้ชื่นชม

ขณะเดียวกันในวันที่ 26 มี.ค.นี้ จะมีปรากฏการณ์ดาวล้อมเดือนเกิดขึ้นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ โดยที่ดวงจันทร์ขึ้น 4 ค่ำ จะโคจรมาอยู่ระหว่างกลางของดาวศุกร์ และดาวพฤหัสบดี โดยที่ดาวศุกร์จะขยับไปอยู่ทางด้านบนของดวงจันทร์ ห่างดวงจันทร์ประมาณ ๓ องศา38 ลิปดา ดาวพฤหัสบดี จะย้ายมาอยู่ทางด้านล่างห่างจากดวงจันทร์ประมาณ 5 องศา 25 ลิปดา

ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นนี้ จะคล้ายกันกับปรากฏการณ์พระจันทร์ยิ้มที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้า เมื่อประมาณ 4 ปีที่ผ่านมา แต่ในครั้งนี้จะมีเพียงตาเดียว คือ ตาขวา ส่วนดาวพฤหัสบดี ไม่ได้เป็นตาซ้ายดังเดิม แต่จะกลับมาอยู่ทางด้านล่างของดวงจันทร์ จนกลายเป็นดาวล้อมเดือนแบบเรียงกัน หรือเข้าแถวตรงอยู่ในแถวเดียว ซึ่งอาจจะดูคล้ายๆ กันกับ ลูกตุ้มของอะตอม ที่มีลูกตุ้มใหญ่อยู่ตรงกลาง และมีลูกตุ้มเล็กๆ เป็นปีกหิ้วอยู่ทั้งสองด้าน โดยที่ดวงจันทร์ดาวศุกร์ดาวพฤหัสบดีทั้งสามดวงนี้ อยู่ในกลุ่มดาวเดียวกัน คือ กลุ่มดาวแกะ (Aries) เป็นปรากฏการณ์ ที่สวยงามน่าติดตามอีกปรากฏการณ์หนึ่ง

ในการโคจรของดวงดาวบนท้องฟ้าขณะเกิดปรากฏการณ์นั้น ดาวศุกร์จะมีความสว่างอยู่ที่ -4.35 ดาวพฤหัสบดีจะมีความสว่างที่ -2.07 ดวงจันทร์ในช่วงขึ้น 4 ค่ำนั้น จะมีปรากฏการณ์ Earth Shine ให้เห็นได้อย่างชัดเจนด้วย

สำหรับวิธีสังเกตปรากฏการณ์ในครั้งนี้ ให้ผู้สนใจมองไปบนท้องฟ้าทางด้านทิศตะวันตก สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่าทันทีที่ฟ้าเริ่มมืด ซึ่งปรากฏการณ์ดาวศุกร์เคียงดาวพฤหัสบดีนั้น สามารถเห็นได้ในวันที่ 13-14-15 มี.ค.55 ส่วนดาวล้อมเดือนเรียงแถวนั้น จะเห็นได้ในวันที่ 26 มี.ค.55 โดยที่ผู้สังเกตการณ์ จะต้องหาที่โล่งหรือที่สูง ไม่มีตึกหรืออาคารสูงบัง จะสังเกตเห็นได้นาน แต่ก็อาจมีอุปสรรคในการเฝ้าสังเกตการณ์ได้ คือ ฟ้าหลัว และเมฆฝน ที่มีมากในช่วงฤดูนี้

สำหรับตำแหน่งทางดาราศาสตร์ของดาวพฤหัสบดีนั้น คือ RA 2 h 39.861m DEC 14
องศา 37 ลิปดา 7 ฟิลิปดา และดาวศุกร์ที่ RA 3 h 15.95m DEC 21 องศา 17 ลิปดา 24 ฟิลิปดา โดยที่ 1 องศานั้นเท่ากับ 60 ลิปดา และ 1 ลิปดานั้นเท่ากับ 60 ฟิลิปดา นายวรวิทย์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น