อุตรดิตถ์ - เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังเมืองลับแลโวยลั่น รับจำนำมันฯ สุดมั่ว เกษตรจังหวัดฯจัดคิวให้ขุดหน้าฝน เสี่ยงผลผลิตเสียหาย -เปอร์เซ็นต์แป้งหาย ขณะที่ผลผลิตเกษตรกรที่มีแป้งสูง ต้องได้ราคาเพิ่ม กลับได้ในราคาต่ำกว่าราคารับจำนำ
วันนี้ (5 มี.ค.) นายชาลี คำด้วง ตัวแกนเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง จ.อุตรดิตถ์ กล่าวว่า หลังจากร่วมแก้ไขปัญหาราคามันสำปะหลังตกต่ำกับส่วนราชการ ผู้ประกอบการจากต่างจังหวัด ทำให้สามารถตกลงกันได้และเปิดจุดรับจำนำในพื้นที่ จ.อุตรดิตถ์ ทั้งหมด 7 จุด ดำเนินการรับจำนำไปแล้ว 2 วัน วันละ 800 ตัน
แต่ขณะนี้กำลังมีปัญหาเกิดขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการตัดสิ่งเจือปน 12% ซึ่งสูงกว่าปกติซึ่งอยู่ที่ 3-5% แต่บางรายเปอร์เซ็นต์แป้งสูงกว่า 25% ผู้ประกอบการจะต้องเพิ่มราคาให้ตันละ 80 บาท แต่เกษตรกรกลับจำนำได้ในราคาตันละ 2,500 บาทเท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าราคาที่รัฐบาลกำหนดไว้ที่ตันละ 2,800 บาท
“ปัญหาเกิดขึ้นและมั่วมาก คือ เกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์เข้ามาดำเนินการเรื่องการจัดคิวให้เกษตรกรขุดมันสำปะหลังออกมาจำนำกับผู้ประกอบการ มีจำนวนไม่น้อยที่ได้คิวขุดช่วงเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงเข้าสู่ฤดูฝน จะทำให้คุณภาพของมันสำปะหลังที่อยู่ในดินลดลง เปอร์เซ็นต์แป้งจะลดลง โอกาสเน่าเสียก็มีมาก ซึ่งปัญหานี้เกษตรจังหวัดไม่ยอมเข้าใจและไม่ยอมรับฟังข้อเสนอของกลุ่มเกษตรกรเลยแม้แต่น้อย จึงอยากให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเร่งแก้ปัญหานี้ให้โดยเร็วเพราะไม่อยากให้เกิดปัญหาเรียกร้องด้วยการปิดถนนเกิดขึ้นมาอีก”
นายชาลีกล่าวอีกว่า สำหรับปริมาณมันสำปะหลังของ จ.อุตรดิตถ์ โดยเฉพาะที่ อ.ทองแสนขัน ยังมีหัวมันดิบอยู่ที่ราว 80,000 ตัน หากรวมกับ อ.น้ำปาด และ อ.ฟากท่า จะมีจำนวนมากถึง 100,000 ตัน แต่เหลือระยะเวลาเพียงอีกไม่ถึง 100 วันก็จะเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งจะทำให้มีเกษตรกรจำนวนมากที่ไม่ได้คิวขุดมันขึ้นมาจำนำตามนโยบายของรัฐบาลได้ทัน จึงจะเข้าไปเจรจากับพาณิชย์จังหวัด และผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อให้เพิ่มจำนวนการขุดหัวมันมากกว่าวันละ 800 ตันได้หรือไม่เพราะหากล่าช้าและเกิดความเสียหายขึ้นใครจะรับผิดชอบให้แก่เกษตรกร