บุรีรัมย์ - เกษตรกรบุรีรัมย์พลิกวิกฤตเป็นโอกาส ปลูกแตงโมพืชใช้น้ำน้อยขายเป็นรายได้เสริมช่วงหน้าแล้งแทนการทำนาปรังเสี่ยงเสียหาย เผย มีพ่อค้ามารับซื้อถึงที่สร้างรายได้ 2 หมู่บ้าน ร่วม 3 ล้าน ขณะชลประทานให้เกษตรกรงดทำนาปรัง ส่งเสริมปลูกพืชอายุสั้นใช้น้ำน้อยแทนหวั่นวิกฤตขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคช่วงหน้าแล้ง
วันนี้ (26 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกษตรกร 2 หมู่บ้าน บ้านพึ่งต้น และบ้านม่วง ต.บ้านบัว อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ กว่า 50 ครัวเรือน ที่อยู่ในเขตชลประทานรอบพื้นที่อ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก ได้หันมาปลูกแตงโมพันธุ์กินรี พืชอายุสั้นที่ใช้น้ำน้อย ขายเป็นรายได้เสริมช่วงหน้าแล้ง แทนการเพาะปลูกข้าวนาปรังที่ใช้น้ำมาก เพื่อลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนน้ำและผลผลิตเสียหาย
โดยเกษตรกรจะใช้ระยะเวลาในการปลูกแตงโมเพียง 60 วัน หรือ 2 เดือนเท่านั้น ก็สามารถเก็บผลผลิตขายได้ โดยจะมีพ่อค้าแม่ค้าจากทั้งในและต่างจังหวัดมารับซื้อถึงสวน ในราคากิโลกรัมละ 4-5 บาท โดยเฉลี่ยเกษตรกรสามารถขายได้ไร่ละ 8,000-10,000 บาท ซึ่งสามารถสร้างรายได้เสริมช่วงหน้าแล้งให้กับเกษตรกรทั้ง 2 หมู่บ้านเกือบ 3 ล้านบาท หรือเฉลี่ยครัวเรือนละ 30,000-40,000 บาท ทั้งยังเป็นการลดปัญหาการอพยพเคลื่อนย้ายออกไปขายแรงงานยังต่างถิ่นได้ในอีกทางหนึ่งด้วย
ด้าน นายบาน บุญแนบ อายุ 41 ปี บอกว่า ปกติทุกปีช่วงนี้เกษตรกรจะปลูกข้าวนาปรัง แต่เนื่องจากปีนี้ เกรงว่า น้ำไม่เพียงพอในการเพาะปลูก และอาจทำให้ผลผลิตเสียหายได้ประกอบมีเกษตรกรหันมาทำข้าวนาปรังเพิ่มขึ้น ปีนี้จึงได้ตัดสินใจเปลี่ยนจากการปลูกข้าวนาปรังหันมาปลูกแตงโมซึ่งเป็นพืชอายุสั้นและใช้น้ำน้อยแทน โดยแต่ละปีจะสามารถปลูกได้ 2 ครั้ง ซึ่งก็สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรในหมู่บ้านได้เป็นอย่างดี ทั้งยังช่วยลดปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงานด้วย
ทางด้าน นายเรืองศักดิ์ ฉกรรจ์ศิลป์ หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรมโครงการชลประทานบุรีรัมย์ กล่าวว่า ถึงแม้ปีนี้ปริมาณน้ำกักเก็บในอ่างจะมากกว่าในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา แต่ทางโครงการชลประทานก็ได้งดสนับสนุนการทำนาปรัง หันมาส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชอายุสั้นที่ใช้น้ำน้อย เช่น แตงโม ข้าวโพด ถั่วลิสง งาขาว งาดำ แทน ภายใต้ทำโครงการ “บูรณาการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์” เพื่อลดปัญหาการเกิดวิกฤตขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคในช่วงหน้าแล้ง โดยในปีนี้มีเป้าหมายส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อย เนื้อที่ 1,500 ไร่จากเดิมที่ให้เกษตรกรในเขตบริการชลประทานทำนาปรังเพียง 500 ไร่ เท่านั้น