ศูนย์ข่าวศรีราชา-DSI. บุกตรวจสอบภายในโกดังท่าเรือศรีราชาฮาเบอร์ หวั่นซุกซ่อนวัตถุอันตราย โดยขอตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติมอีก 1-2 วัน หากพบผิดจริงพร้อมดำเนินการตามกฎหมายทันที
นายประวิทย์ ไชยบัวแดง ผู้อำนวยการ DSI.ภาคตะวันออก กล่าวว่า จากการสืบทราบจากเจ้าหน้าที่ DSI.ภาคตะวันออก พบว่าโรงงานในจังหวัดระยอง ได้นำวัตถุอันตราย เตรียมส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยวัตถุอันตรายนั้น นำมาเก็บไว้ที่โกดังของศรีราชาฮาเบอร์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี จึงประสานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ประกอบด้วย นายพรชัย ขวัญสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี , อุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี , สำนักงานเจ้าท่าจังหวัดชลบุรี , ศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อร่วมตรวจสอบในครั้งนี้
จากการตรวจสอบในเบื้องต้น พบวัตถุอันตรายดังกล่าวจริง อยู่ในโกดังที่ 8 ของท่าเรือศรีราชาฮาเบอร์ และมีการลำเลียงขนขึ้นเรือ เพื่อส่งต่อไปยังประเทศที่ 3 ซึ่งยังไม่ทราบสถานที่ที่แน่ชัดในขณะนี้ โดยเบื้องต้นทางผู้ประกอบการท่าเรือศรีราชาฮาเบอร์ ได้แสดงหลักฐานว่าสารดังกล่าวนำเข้ามาจากประเทศลาว และจะส่งต่อไปยังประเทศที่ 3 ต่อไป
นายประวิทย์ กล่าวต่อไปว่า ในความเป็นจริงแล้ว สารดังกล่าว ตาม พ.ร.บ. วัตถุอันตราย ปี พ.ศ. 2535 นั้น ทาง DSI .มีความเห็นว่าน่าจะมีความผิดตามกฎหมาย แต่อย่างไรก็ตาม จะต้องทำการตรวจสอบรายละเอียดในหลักฐานของบริษัท ที่นำเข้าของสินค้าว่ามีจำนวนเท่าไร ,มีการปลอมปนหรือ มีการสวมสิทธิ หรือไม่อย่างไร โดยจะต้องตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม และหากตรวจสอบแล้วผิดจริงก็ต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
ขณะนี้ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อผู้ประกอบการ ทาง DSI.จึงจำเป็นต้องปล่อยให้มีการนำวัตถุดังกล่าว ส่งออกไปยังประเทศที่ 3 ก่อน เนื่องจากเรือมาคอยรับสินค้าแล้ว จำนวน 10,000 ตัน และยังคงเหลือในโกดังอีกประมาณ 50,000 ตัน ที่จะต้องรอตรวจสอบอย่างละเอียด เพราะข้อมูลที่ผู้ประกอบการให้นั้นยังไม่ตรงกันเท่าที่ควร
ประวิทย์ กล่าวว่า สำหรับวัตถุอันตราย จากการตรวจสอบจากห้องแล๊ป พบว่าเป็น ตะกั่ว ,แคสเมี่ยม ,สังกะสี ซึ่งเกินปริมาณที่กฎหมายกำหนดไว้หลายเท่า เช่น แคสเมี่ยม ที่กฎหมายกำหนดห้ามเกิน 100 มิลลิกรัม/กิโลกรัม แต่สารดังกล่าว มีสูงถึง 134 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ,ตะกั่ว ห้ามเกิน 1,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม แต่พบสูงถึง 9,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และสังกะสี ห้ามเกิน 5,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม แต่พบสูงถึง 30,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม
“ในความเป็นจริงแล้ว วัตถุอันตรายดังกล่าว การจะนำเข้าหรือ นำมาเก็บไว้ในโกดังนั้น จะต้องได้รับอนุญาต จากหน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่น จากอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่ายังไม่ได้รับการอนุญาต แต่อย่างไร แต่ทางผู้ประกอบการอ้างว่า ได้ดำเนินการตามสนธิสัญญาปาโต้ ซึ่งจะต้องตรวจสอบอีกครั้ง” ประวิทย์ กล่าว
นายประวิทย์ กล่าวว่า มีบางสิ่งบางอย่างไม่ตรงกับเอกสารหรือคำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่ของบริษัท ดังนั้นจะต้องรวบรวมข้อมูลหลักฐานต่างๆเพิ่มขึ้น และหากผิดจริงก็ต้องดำเนินคดีตามกฎหมายทันที ดังนั้นจึงขอเวลาอีก 1-2 วันนี้ จะทราบรายละเอียดทั้งหมด