xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายองค์กร ปชช.อีสานเดินขบวนต้าน “รัฐบาลปู” พัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่-เหมืองโปแตซ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อุดรธานี - เครือข่ายองค์กรประชาชนภาคอีสาน เดินขบวนประกาศจุดยืนไม่เอาโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ชี้ รัฐบาล “ยิ่งลักษณ์” ไม่สามารถรับผิดชอบต่อความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ซ้ำจัด ครม.สัญจรอุดรฯเพียงเพื่อเอื้อประโยชน์กลุ่มทุนการเมืองเท่านั้น พร้อมยื่นเสนอ 4 ข้อต่อที่ประชุม ครม.

ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดอุดรธานี ว่า วันนี้ (17ก.พ.) ที่สถานีรถไฟอุดรธานี เครือข่ายองค์กรประชาชนภาคอีสาน ได้ร่วมตัวกันเพื่อเดินขบวนรณรงค์เรียกร้อง พร้อมประกาศจุดยืนจะไม่เอาโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่และโครงการเหมืองแร่โปแตซอุดรธานี โดยมีตัวแทน 15 องค์กรร่วมกันออกแถลงการณ์และร่วมกันเดินขบวน

นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการประสานงาน องค์กรเอกชน (กป.อพช.) ภาคอีสาน เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลจะมาจัดประชุม ครม.สัญจรที่ จ.อุดรธานี ในวันที่ 21-22 กุมภาพันธ์ 2555 นี้ เครือข่ายประชาชนภาคอีสาน จึงนัดหมายจัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยมีภาคีเครือข่ายฯมาร่วมอย่างหลากหลาย

เช่น สมัชชาคนจน 4 ภาค กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ชาวบ้านน้ำอูน โขง ชี มูล ชาวบ้านภูผาเหล็ก ลำพะเนียง ปากชม แก่งระหว้า ประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม สภาองค์กรชุมชนภาคอีสาน และเครือข่ายผู้หญิงอีสาน แลกเปลี่ยนความรู้กัน

นายสุวิทย์ กล่าวว่า สมัยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 เม.ย. 32 ได้มีการประชุม ครม.สัญจร ครั้งแรกที่ จ.ขอนแก่น ซึ่งก็ได้อนุมัติโครงการอันสร้างความวิบัติต่อชาวอีสานมาจนถึงทุกวันนี้ นั่นคือ โครงการโขง ชี มูล ระยะที่ 1 ด้วยเงิน 18,000 บาท เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำสำหรับเกษตร โดยอ้างว่าจะทำให้คนอีสานหายจน

แต่หลังจากดำเนินงานผ่านไปได้สร้างความเสียหาย ทั้งปัญหาดินเค็ม น้ำท่วมที่ทำกิน และสูญเสียระบบนิเวศ และก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชุมชนและระหว่างชุมชนกันเอง

เช่น โครงการโขงชีมูล ก่อสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำสำคัญของภาคอีสาน เขื่อนปากมูล เขื่อนปากน้ำสงคราม เขื่อนราศีไศล ขณะนี้คนอีสานเผชิญกับชะตากรรม โดยมีคนอื่นกำหนดทิศทางการพัฒนาให้ ภาคอีสานมีโครงการของรัฐและนักการเมืองยังใช้โครงการใหญ่ๆ เพื่อหาเสียง โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวกับการจัดการน้ำ

ทั้งนี้ เครือข่ายองค์กรประชาชนภาคอีสาน ได้มีข้อเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดอุดรธานี ประกอบด้วย 1.ขอให้หยุดปล้นแผ่นดินอีสานโดยอ้างการพัฒนา ซึ่งเราเชื่อว่าการประชุมคณะรัฐมนตรีในครั้งนี้ เป็นการประชุมเพื่อผลประโยชน์ต่างตอบแทน และเอื้อประโยชน์กับกลุ่มทุนธุรกิจการเมืองเท่านั้น

2.ขอให้ทบทวนความผิดพลาดและบทเรียนของความล้มเหลวจากโครงการโขง ชี มูล ในอดีต รวมถึงเยียวยาความเสียหายต่อพี่น้องชาวอีสาน
 
3.ขอให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางอาหารและการเก็บรักษาฐานที่มั่นในการผลิตอาหาร การคุ้มครองเกษตรกรรายย่อยจากธุรกิจผูกขาด และเกษตรพันธะสัญญาที่ไม่เป็นธรรม

รวมถึงมุ่งส่งเสริมการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับภูมินิเวศน์เฉพาะถิ่นและรัฐบาลต้องดำเนินนโยบายการกระจายการถือครองที่ดินที่เป็นธรรมในรูปแบบต่างๆ และให้สิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและฐานทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า และทรัพยากรชีวภาพของตน







กำลังโหลดความคิดเห็น