xs
xsm
sm
md
lg

“25 คู่บ่าวสาว” ร่วมสมรสหมู่จดทะเบียนบนหลังช้างสุรินทร์ยิ่งใหญ่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คู่บ่าวสาวชาวไทย-ต่างชาติ 25 คู่ เข้าร่วมพิธีสมรสหมู่“ซัตเต” ประเพณีแต่งงานโบราณแบบชาวกูย ชนพื้นเมืองสุรินทร และจดทะเบียนสมรสบนหลังช้าง เนื่องในวันวาเลนไทน์ อย่างยิ่งใหญ่ วันนี้ ( 14 ก.พ.)
สุรินทร์- คู่บ่าวสาวชาวไทยและต่างชาติ 25 คู่ เข้าร่วมพิธีสมรสหมู่ “ซัตเต” ประเพณีแต่งงานโบราณแบบชาวกูยชนพื้นเมืองสุรินทร์ และจดทะเบียนสมรสบนหลังช้าง แห่งเดียวในโลกอย่างยิ่งใหญ่ เนื่องในวันวาเลนไทน์ 14 กุมภาฯ 2555

วันนี้ (14 ก.พ.) ที่ศูนย์คชศึกษา จ.สุรินทร์ บ.ตากลาง ต.กระโพ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สุรินทร์ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) จัดกิจกรรมพิธีสมรสหมู่ “ซัตเต” ประเพณีแต่งงานโบราณของชาวกูยชนพื้นเมืองสุรินทร์ และพิธีจดทะเบียนสมรสบนหลังช้าง ประจำปี 2555 ซึ่งมีแห่งเดียวในโลก เนื่องในวันวาเลนไทน์ หรือ วันแห่งความรัก 14 กุมภาพันธ์ โดยมี นายนิรันดร์ กัลยาณมิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เป็นประธานในพิธี

ทั้งนี้ เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีการแต่งงานของชนพื้นเมืองสุรินทร์ และส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดสุรินทร์ โดยมีคู่บ่าวสาวเข้าร่วมพิธีแต่งงานถึง 25 คู่ ในจำนวนนี้มีเจ้าบ่าวเป็นชาวต่างชาติ 3 คน ที่ร่วมเข้าพิธีแต่งงานกับสาวไทย ซึ่งทั้ง 3 คน เป็นชาวสหรัฐอเมริกา,สวีเดนและเดนมาร์ค ท่ามกลางประชาชนและนักท่องเที่ยวให้ความสนใจร่วมงานจำนวนมาก

กิจกรรมดังกล่าวเริ่มขึ้นในเวลาประมาณ 08.30 น.โดยมีการจัดขบวนแห่ขันหมากจ้าวบ่าวนั่งบนหลังช้าง กว่า 25 เชือก ซึ่งตกแต่งด้วยผลไม้และอาหารคาวหวานต่างๆ ต้นกล้วย ต้นอ้อย เพื่อนำไปประกอบพิธีแต่งงานแบบชาวกูยโบราณ หรือ “ซัตเต” รวมทั้งขบวนกลองยาว ขบวนฟ้อนรำ ต่างๆ ยาวเหยียด แห่ขบวนไปรอบหมู่บ้านตากลางอย่างสนุกสนาน

จากนั้นขบวนขันหมากเจ้าบ่าว ได้เคลื่อนไปถึงหน้าปะรำพิธีและให้เจ้าบ่าวลงจากหลังช้าง พร้อมนำช่อดอกกุหลาบมอบให้เจ้าสาว ท่ามกลางบรรยากาศเต็มไปด้วยความรักอันหวานชื่น ก่อนเดินขึ้นประรำพิธีแต่งงาน “ ซัตเต” ตามประเพณีของชาวกูยโบราณ โดยมีการผูกข้อมือและทำพิธีทางพราหมณ์ในแบบชาวกูยโบราณ

หลังจากประกอบพิธีแต่งงานแบบซัตเตแล้ว ทั้งเจ้าสาวและเจ้าบ่าวได้ร่วมกันเลี้ยงอาหารช้างจำนวนหลายสิบเชือก ก่อนพากันขึ้นนั่งบนหลังช้างเพื่อจดทะเบียนสมรสและรับมอบใบทะเบียนสมรสขนาดใหญ่และของที่ระลึก จาก นายนิรันดร์ กัลยาณมิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เป็นประธานมอบอยู่บนหลังช้าง พร้อมด้วย นายธงชัย มุ่งเจริญพร นายก อบจ.สุรินทร์ และนายอำเภอท่าตูม ก่อนจะเปิดโอกาสให้ผู้ที่มาร่วมงานบันทึกภาพไว้เป็นที่ระลึก ซึ่งสร้างความประทับใจให้กับคู่บ่าวสาวและประชาชนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศที่เข้าร่วมงานเป็นอย่างมาก

นางสาวบุณยานุช วรรณยิ่ง ผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานสุรินทร์ กล่าวว่า พิธีแต่งงานแบบชาวกวยหรือชาวกูย โบราณ หรือพิธีซัตเต เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเมื่อคู่หนุ่มสาวชาวกวยตกลงแต่งงานกัน เจ้าบ่าวมาสู่ขอเจ้าสาวจากผู้ใหญ่เป็นที่เรียบร้อยแล้วจะเริ่มสร้างกระท่อมเพื่อประกอบพิธีในบริเวณลานบ้านเจ้าสาวด้วยตัวเองจนเสร็จ และในวันแต่งงาน เจ้าบ่าว เจ้าสาว จะสวมชุดชาวกวยพื้นเมือง เจ้าบ่าวจะเดินทาง (มีช้างจะนั่งช้าง) จากบ้านตนเองไปบ้านเจ้าสาว

ต่อมานั้นพราหมณ์ผู้ประกอบพิธีจะพาเจ้าสาวลงมาจากบ้านไปยังกระท่อมเพื่อประกอบพิธีกรรม เริ่มด้วยเจ้าบ่าวสวมด้ายมงคล เจ้าสาวสวมจะลอม (มงกุฎทำจากใบตาล) จะมะ (แก้ว แหวน สร้อย ต่างหู หรือเครื่องประดับที่เจ้าบ่าวนำมาให้) แล้วเริ่มตรวจนับสินสอดเครื่องประกอบต่างๆ

จากนั้นพราหมณ์เริ่มพิธีบายศรีสู่ขวัญตามแบบชาวกวย พิธีถอดกระดูกคางไก่เสี่ยงทายชีวิตคู่ แล้วผูกข้อมือ ญาติผู้ใหญ่และเพื่อนอวยพรให้คู่บ่าวสาวตามลำดับจนเสร็จ สุดท้ายเจ้าบ่าวเจ้าสาวนั่งช้างเดินทางไปยังวังทะลุ (บริเวณที่ลำน้ำมูลและลำน้ำชีไหลมาบรรจบกัน) เพื่อบอกกล่าวเจ้าที่ให้รับทราบถึงการครองคู่สามีภรรยาจึงถือเป็นการเสร็จสิ้นพิธี








กำลังโหลดความคิดเห็น