xs
xsm
sm
md
lg

นายกเมืองพัทยาเตรียมแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำแบบบูรณาการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวศรีราชา - นายกเมืองพัทยา เตรียมแก้ไขปัญหาน้ำดิบ แบบบูรณาการหวั่นเกิดปัญหาภัยแล้งซ้ำซากในอนาคต พร้อมให้เอกชนเสนอแผนการแก้ไขปัญหาด้วยระบบรีไซเคิล

วันนี้ (10 ก.พ.) นายอิทธิพล คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา เสนอญัตติต่อที่ประชุมสภาเมืองพัทยา เพื่อขอรับความเห็นชอบให้เอกชนเสนอแผนการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำประปาในเมืองพัทยาด้วยระบบรีไซเคิล ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและรองรับปัญหาภัยแล้ง และการเติบโตทางสังคมและเศรษฐกิจของเมืองพัทยาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

นายอิทธิพลกล่าวว่า ในช่วงปี 2547-48 ที่ผ่านมา เมืองพัทยาประสบกับปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภคอย่างรุนแรง ทำให้สภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนรวมถึงการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ เนื่องมาจากภัยแล้งที่ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลอีกทั้งอ่างเก็บน้ำหลักที่ใช้ในการกักเก็บน้ำดิบที่จะป้อนเข้าสู่ระบบการผลิตที่มีอยู่จำนวน 5 อ่าง ได้แก่ มาบประชัน ชากนอก หนองกลางดง ห้วยสะพาน และห้วยขุนจิตนั้น ก็มีปริมาตรการ กักเก็บไม่เพียงพอต่อความต้องการของภาคประชาชนและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

ปัจจุบันอัตราการใช้น้ำเฉลี่ยอยู่ที่ปริมาณวันละ 1.2-1.3 แสน ลบ.ม. นอกจากนี้ ในระบบการผลิตของการประปาส่วนภูมิภาคเองก็สามารถผลิตได้ในจำนวนจำกัด หรือในสัดส่วนที่เพียงพอต่อการใช้ในช่วงเวลาดังกล่าวเท่านั้น ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นแม้ว่าที่ผ่านมาภาครัฐจะหันมาให้ความสนใจและจัดสรรงบลงมาแก้ไขอย่างจริงจัง ได้แก่ การต่อท่อเชื่อมน้ำดิบจากลุ่มน้ำบางปะกง การผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำบางพระ หรือการซื้อน้ำดิบเพิ่ม เติมจากภาคเอกชน รวมทั้งการอนุมัติงบประมาณให้กับการประปาส่วนภูมิภาคในการพัฒนาระบบส่งและผลิตเพิ่มเติม ซึ่งปัจจุบันสามารถผลิตและส่งน้ำได้ในอัตรา 2.46 แสน ลบ.ม.ต่อวัน แต่หากเกิดภาวะภัยแล้งขึ้นอีกก็อาจเกิดปัญหาซ้ำซากได้

นายอิทธิพลกล่าวต่อว่า เรื่องนี้ทางเมืองพัทยาจึงได้มีการหารือร่วมกับคณะที่ปรึกษายุทธศาสตร์การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพื่อทำการศึกษาและวางแผนในการรองรับ โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นเพื่อสำรวจแนวทางการจัดหาน้ำดิบในระบบรีไซเคิล โดยใช้น้ำดิบของเมืองพัทยาหรือน้ำเสียที่ผ่านระบบบำบัดในซอยหนองใหญ่ และวัดบุญกัญจนารามในอัตราวันละกว่า 1 แสน ลบ.ม.มาทำการรีไซเคิลใหม่ โดยทำการก่อสร้างโรงบำบัด

รวมทั้งระบบท่อส่งเพื่อป้อนน้ำดิบที่ได้มาตรฐานส่งต่อไปขายยังการประปาส่วนภูมิภาคก่อนผลิตเป็นน้ำประปาส่งต่อถึงประชาชน ซึ่งโครงการนี้จะทำให้เมืองพัทยามีน้ำต้นทุนที่สามารถรองรับการใช้ไปได้อีก 15-20 ปีข้างหน้า

ส่วนของหลักเกณฑ์การจัดทำโครงการนั้นได้กำหนดไว้ 3 ขอบเขตหลัก คือ 1. เมืองพัทยาเป็นผู้ดำเนินการเองทั้งหมด ในงบประมาณค่าใช้จ่ายรวมประมาณ 700 ล้านบาท 2. ให้เอกชนสัมปทานการจัดทำโครงการทั้งหมด และ 3.เมืองพัทยาเป็นผู้ก่อสร้างแต่ให้ภาคเอกชนเป็นผู้บริหารจัดการ ซึ่งจากการหารือร่วมหลายฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าจะใช้วิธีการที่ 2 คือ ให้ภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุน และบริหารจัดการเอง โดยมีเมืองพัทยาเป็นผู้กำกับดูแลและควบคุมมาตรฐาน โดยยังเหลือเพียงขั้นตอนที่จะขอให้สภาเมืองพัทยาเห็นชอบ ก่อนประกาศให้ผู้ที่สนใจมาเสนอตัวเพื่อดำเนินการต่อไป

ทั้งนี้ ในที่ประชุมเสียงส่วนใหญ่ต่างให้ความเห็นชอบ แต่ต้องการศึกษาถึงรายละเอียดและวิธีการรีไซเคิลน้ำที่ได้มาตรฐาน เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ยังหวั่นถึงความสะอาดและสารตกค้างที่อาจแฝงมากับน้ำเสียที่แม้จะผ่านการบำบัดแล้วก็ตาม ซึ่งจะได้มีการนำเสนอรายละเอียดและพิจารณาต่อไปอีกครั้งในเร็ววันนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น