xs
xsm
sm
md
lg

วัดสวนดอกติดเครื่องวัดความสั่นสะเทือนพระบรมธาตุเจดีย์แล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อุปกรณ์วัดความดังของเสียง แรงอัดอากาศและตัวรับแรงสั่นสะเทือน ซึ่งถูกติดตั้งที่บริเวณฐานของพระบรมธาตุเจดีย์ วัดสวนดอก เพื่อทำการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับความชำรุดของตัวพระบรมธาตุเจดีย์ รวมทั้งสาเหตุของการชำรุดดังกล่าว
ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - กรมศิลป์ประสานผู้ชำนาญงานติดตั้งเครื่องวัดความสั่นสะเทือนพระบรมธาตุเจดีย์วัดสวนดอกแล้ว ตั้งเป้าตรวจสอบ 2 วัน-ดูทุกปัจจัยก่อนฟันธงอะไรเป็นสาเหตุทำพระเจดีย์แตกร้าว-ชี้เครื่องบินยังอาจมีเอี่ยว เผย หลังสอบรอประมวลผล 1 สัปดาห์รู้ผลแน่

เจ้าหน้าที่ของบริษัท เคนเบอร์ จีโอเทคนิค (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งได้รับมอบหมายจากสำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ เข้าทำการติดตั้งอุปกรณ์วัดความสั่นสะเทือน ณ พระบรมธาตุเจดีย์ วัดสวนดอก พระอารามหลวงแล้วในวันนี้ (26 ม.ค.) เพื่อตรวจสอบและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสภาพของพระบรมธาตุเจดีย์ในปัจจุบัน รวมทั้งทำการประมวลข้อมูลเพื่อนำเสนอต่อกรมศิลปากร สำหรับใช้ในการวางแผนการบูรณะพระบรมธาตุเจดีย์

นอกจากนี้ การติดตั้งเครื่องวัดความสั่นสะเทือนดังกล่าวจะทำการตรวจสอบเพื่อพิสูจน์ด้วยว่า การแตกร้าวและทรุดตัวของพระบรมธาตุเจดีย์นั้น เป็นผลมาจากการบินขึ้นลงของเครื่องบินภายในท่าอากาศยานเชียงใหม่ ซึ่งถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงในช่วงที่ผ่านมาตามสื่อต่างๆ ว่าอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้พระบรมธาตุเจดีย์แตกร้าวและทรุดโทรมจริงหรือไม่

นายภูษิต ศัลกวิเศษ Construction Manager, Department of Civil Engineering บริษัท เคนเบอร์ จีโอเทคนิค (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวถึงการดำเนินการของบริษัท ว่า จะทำการตรวจสอบใน 3 ส่วน

ประกอบด้วย 1.การตรวจลักษณะกายภาพภายนอก ซึ่งมีความเสียหายเกิดขึ้นทั้งจากการเสื่อสภาพตามกาลเวลาและจากปัจจัยอื่นๆ อย่างเช่นการเกิดแผ่นดินไหว เป็นต้น โดยจะดูว่ารอยแตกต่างๆ นั้นมีความขนาดและความรุนแรงแค่ไหน

2.ความแข็งแรงของโครงสร้าง โดยทำการวัดความแข็งแรงของปูนจากตัวเจดีย์ และ 3.การวัดผลกระทบจากแรงกระทำภายนอก ซึ่งในที่นี้จะมีการติดตั้งไมโครโฟนวัดความดังของเสียงและแรงอัดอากาศ กับตัวรับแรงสั่นสะเทือน เพื่อบันทึกว่าข้อมูลการขึ้นลงและแรงอัดอากาศที่เกิดจากเครื่องบินในสนามบินเชียงใหม่ โดยการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวจะใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ 2 วัน

นายภูษิต กล่าวต่อไปว่า ข้อมูลที่ได้จะถูกนำไปประมวลผลเพื่อดูว่า นอกเหนือจากการเสื่อมสภาพตามกาลเวลาแล้ว ปัจจัยอื่นๆ อย่างเช่นความดังของเสียง หรือแรงอัดอากาศที่เกิดจากการทำการบินนั้นมีผลต่อการแตกร้าวหรือชำรุดของพระบรมธาตุเจดีย์หรือไม่ ซึ่งในเบื้องต้นจากการทำการบันทึกข้อมูลพบว่า ความดังของสียงจากการบินนั้นอยู่ในระดับที่สร้างความรบกวนให้กับผู้อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงอยู่บ้าง แต่ยังถือว่ามีความถี่ไม่มากนัก

ทั้งนี้ การทำการประเมินผลข้อมูลทั้งหมด คาดว่า จะใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ 1 สัปดาห์จึงจะทราบผล จากนั้นข้อมูลที่ได้จะถูกนำไปเปรียบเทียบกับข้อมูลในฐานข้อมูลที่นำมาจากค่าเฉลี่ยมาตรฐาน ซึ่งประเทศต่างๆ ได้ทำการกำหนดค่าเอาไว้ สำหรับการตรวจสอบโบราณสถานในกรณีแผ่นดินไหว

ในส่วนข้อมูลของพระบรมธาตุ จะถูกนำเปรียบเทียบกับข้อมูลมาตรฐานของประเทศอินเดีย เนื่องจากถือเป็นพื้นที่และโบราณสถาน ที่มีองค์ประกอบ และความใกล้เคียงกับโบราณสถานในประเทศไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น