xs
xsm
sm
md
lg

สสจ.ชลบุรี เตือนนักกินช่วงนี้ให้ระวัง “ไข่แมงดามีพิษ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวศรีราชา - นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชลบุรี เตือนผู้บริโภคช่วงนี้ให้ระวัง “ไข่แมงดามีพิษ” เพราะเป็นช่วงฤดูผสมพันธุ์

วันนี้ (26 ม.ค.) นพ.เด่นชัย ศรกิจ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชลบุรี แจ้งเตือนการบริโภค แมงดาทะเล ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึง มิถุนายน เนื่องจากไข่แมงดามีพิษ เพราะช่วงนี้เป็นช่วงฤดูผสมพันธุ์ เริ่มตั้งแต่กุมภาพันธ์ถึงกันยายน ซึ่งพบผู้ป่วยรายแรกที่ได้รับรายงานเป็นชายไทยอายุ 55 ปี เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2555 เวลา 11.30 น.หลังรับประทานยำไข่แมงดาไม่ทราบชนิด 2-3 ช้อนแล้วมีอาการวิงเวียนศีรษะ ง่วงซึม ใจสั่น เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในจังหวัดชลบุรี

สำหรับสถานการณ์อาหารเป็นพิษจากพิษแมงดาทะเล จังหวัดชลบุรี ในรอบ 5 ปี ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยปี 2549 จำนวน 21 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต ปี 2550 พบผู้ป่วยจำนวน 3 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิต และไม่พบในปีต่อๆมา โดยมีข้อมูลทางวิชาการ แมงดาทะเลดังนี้ แมงดาทะเล (Horseshoe crab) เป็นสัตว์โบราณที่พบได้ชุกชุมทั่วไปในอ่าวไทย ทั้งฝั่งทะเลด้านจังหวัดชุมพร ถึง จันทบุรี แมงดาทะเลชอบอาศัยหมกตัวอยู่ตามพื้นโคลน หรือทรายตามชายฝั่งน้ำตื้น บริเวณอ่าว และปากน้ำ ฤดูวางไข่ของแมงดาทะเลเริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ถึงกันยายนฤดูนี้แมงดา จะชุกชุมและมีไข่

ซึ่งคนที่ชอบรับประทาน แมงดาทะเล ในประเทศไทยมีอยู่ 2 ชนิด คือ แมงดาถ้วย หรือ แมงดาไฟ หรือ เห-รา (Carcinoscorpius rotundicauda ) แมงดาชนิดนี้เป็นแมงดาที่มีพิษที่เรียกว่าสาร tetrodotoxin แมงดาจาน (Tachypleus gigas) แมงดาชนิดนี้เป็นแมงดาที่ไม่มีพิษ ชาวบ้านนำมาทำเป็นอาหาร โดยทั่วไปสามารถแยกแมงดาทั้ง 2 ชนิดได้ โดยลักษณะภายนอก คือ แมงดาถ้วยตัวจะเล็กกว่า ขนาดโตเต็ม ที่ไม่เกิน 18 เซนติเมตร ลักษณะหางจะกลมและเรียบ ส่วนแมงดาจานตัวจะโตกว่าขนาดเต็มที่อาจโตถึง 30 เซนติเมตร ลักษณะเฉพาะคือ ส่วนหางถ้าดูหน้าตัด หางจะเป็นสามเหลี่ยม มุมด้านบนของสามเหลี่ยมจะเป็นรอยหยักชัดเจน

ลักษณะเป็นพิษเข้าได้กับอาการเป็นพิษของ tetrodotoxin หรือ saxitoxin ซึ่งยับยั้งการทำงานของ sodium channel โดยตรง อาการเป็นพิษมักเกิดขึ้นภายหลังรับประทานแมงดาทะเลประมาณ 10-45 นาที หรืออาจช้าไปจนถึง 3 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับชนิดและแหล่งที่อยู่ของแมงดาทะเล ฤดูกาล จำนวนที่รับประทาน หรือปริมาณของสารพิษที่ได้รับ เช่นรับประทาน ไข่แมงดา อาการพิษจะเกิดรุนแรงกว่ารับประทานเฉพาะเนื้อ อาการมักเริ่มจากมึนงง รู้สึกชา บริเวณลิ้น ปาก ปลายมือ ปลายเท้าและมีกล้ามเนื้ออ่อนแรง เริ่มจาก มือ แขน ขา ตามลำดับ รวมทั้งอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย บางราย อาจมีน้ำลายฟูมปาก เหงื่อออกมาก พูดลำบาก ตามองเห็นภาพไม่ชัด ในรายที่มีอาการรุนแรงมาก จะมีผลทำให้กล้าม เนื้อหายใจอ่อนแรง ผู้ป่วยอาจตายภายใน 6-24 ชั่วโมง จากการหยุดหายใจ

นพ.เด่นชัย กล่าวต่อไปอีกว่า อาการพิษจากแมงดาทะเลนั้นยังไม่มี antidote เฉพาะ จึงต้องให้การรักษาแบบ supportive โดยเอาสิ่งที่เป็นพิษออกจากร่างกายให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการทำ gastric lavage การให้ activated charcoal และ cathartic

อย่างไรก็ตาม ควรเฝ้าระวังดูแลเกี่ยวกับการหายใจ ถ้าหยุดหายใจ อาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ส่วนวิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือหลีกเลี่ยงที่ไม่กินแมงดาทะเล เพราะอาจมีโอกาสเสี่ยงที่จะเจอแมงดาทะเลที่มีพิษได้

แต่สำหรับคนที่ชอบกินแมงดาทะเลแล้วถ้าพบว่าหลังจากการกินแล้วรู้สึกมีอาการชาที่ปาก หายใจไม่ออก ทำการล้างท้อง ล้วงคอทำให้อาเจียน แล้วรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด การใช้เครื่องช่วยหายใจเป็นการรักษาอาการเบื้องต้น เพื่อช่วยให้คนไข้หายใจได้ หลังจากนั้นก็รักษาตามอาการแบบเดียวกับการรักษาผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษโดยทั่วไป ในปัจจุบันยังไม่มียาแก้พิษจากแมงดาทะเล
กำลังโหลดความคิดเห็น