ศูนย์ข่าวศรีราชา - เกิดเหตุไฟไหม้ห้องจ่ายยา ผู้ป่วยวัณโรค รพ.อ่าวอุดม คนไข้แตกตื่นหนีตาย พร้อมต้องเคลื่อนย้ายคนไข้ ออกจากโรงพยาบาล เบื้องต้น คาดเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร
วันนี้ (15 ม.ค.) เมื่อเวลา 09.20 น. ร.ต.อ.ชำนาญ ก่อเกิด ร้อยเวร สภ.แหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ได้รับแจ้งมีเหตุเพลิงไหม้โรงพยาบาลอ่าวอุดม จึงแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาระดับสูงได้รับทราบ พร้อมประสานเจ้าหน้าที่ดับเพลิงและเจ้าหน้าที่มูลนิธิ ให้มาช่วยเหลือในครั้งนี้เป็นการด่วน เพราะหวั่นผู้ป่วยที่เข้าพักรักษาในโรงพยาบาล อาจจะได้รับผลกระทบและอันตรายจากเหตุเพลิงไหม้ครั้งนี้
โดยในที่เกิดเหตุพบ เพลิงกำลังลุกไหม้ที่ห้องจ่ายยา ฝ่ายเภสัชชุมชน ซึ่งอยู่ชั้นล่างของห้องใต้ดินโรงพยาบาลอ่าวอุดม โดยมีเจ้าหน้าที่ดับเพลิงจาก เทศบาลนครแหลมฉบัง, เทศบาลเมืองศรีราชา ระดมฉีดน้ำเพลิงสกัดเพลิงที่กำลังลุกไหม้ โดยใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง จึงสามารถสกัดเพลิงที่กำลังลุกไหม้ไว้ได้ และจากการตรวจสอบภายในห้องดังกล่าว ได้รับความเสียหายทั้งหมด
ด้าน นายแพทย์ สุกิจ พึ่งเกศสุนทร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอ่าวอุดม กล่าวว่า ห้องที่เกิดเพลิงไหม้ดังกล่าว เป็นห้องเก็บยาของผู้ป่วยที่ป่วยเป็นวัณโรคเท่านั้น ซึ่งไม่ใช่คลังเก็บยาหรือห้องจ่ายยารวมของโรงพยาบาลแต่อย่างไร และห้องดังกล่าวไม่ได้เปิดตลอดเวลา โดยจะเปิดเฉพาะในวัน อังคารกับวันพฤหัส และในวันอื่นๆ ก็จะไม่มีเจ้าหน้าที่อยู่เลย
สาเหตุที่เกิดเพลิงไหม้ในครั้งนี้ สันนิษฐานน่าจะเกิดจากกระแสไฟฟ้าลัดวงจร เนื่องจากยาของผู้ป่วยวัณโรคนั้น จะต้องแช่อยู่ในตู้เย็น ซึ่งทิ้งเปิดไว้กว่า 20 ชั่วโมง และอาจเป็นสาเหตุที่เกิดเพลิงไหม้ดังกล่าว
แต่อย่างไรก็ตาม จะต้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ตรวจสอบหาสาเหตุที่เกิดขึ้นอีกครั้ง โดยเบื้องต้นสิ่งของที่อยู่ภายในห้องเสียหายทั้งหมด แต่ยังไม่ทราบมียาอะไรบ้าง และอุปกรณ์ในห้องนั้นมีอะไรบ้าง โดยจะต้องใช้เจ้าหน้าที่เภสัช ที่ดูแลห้องดังกล่าวไปตรวจสอบก่อน แต่เบื้องต้นก็ไม่ต่ำกว่า 5 แสนบาท อย่างแน่นอน
ด้าน นายแพทย์ สุกิจ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชา ระดับสูงทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว โดยทุกฝ่ายให้ความเป็นห่วงในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่โชคดีไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ อย่างไรก็ตาม ทางโรงพยาบาลจะต้องทำการตัดกระแสไฟฟ้า เพื่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ ทำให้ผู้ป่วยที่ต้องใช้อุปกรณ์เครื่องมือในการดูแลผู้ป่วย จำเป็นต้องย้ายผู้ป่วย ที่มีอาการค่อนข้างหนักไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลใกล้เคียงก่อน และเมื่อเหตุการณ์สงบ และสามารถเปิดใช้ไฟฟ้าได้ตามปกติ ก็จะนำผู้ป่วยกลับมารักษาที่เดิม ทำให้เกิดความโกลาหลเล็กน้อยในการย้ายผู้ป่วยดังกล่าว อีกทั้งพื้นที่ของโรงพยาบาลคับแคบ ทำให้การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเป็นไปด้วยความยากลำบาก