ศูนย์ข่าวศรีราชา - ภาคเอกชนเมืองแปดริ้ว วอนรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐให้ความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายในการเยียวยานิคมอุตสาหกรรมที่ถูกน้ำท่วม หวั่นธุรกิจพังทั้งระบบ เผยยิ่งยื้อเวลายิ่งเพิ่มความสูญเสียทำสถานประกอบการเกิดความสับสน
นายไพศาล ไชยสุข ผู้จัดการทั่วไปบริษัท ชาร์ป แอพพลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัดผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ในจังหวัดฉะเชิงเทรา (จำพวก ตู้เย็น เครื่องซักผ้าเครื่องปรับอากาศ ไมโครเวฟ) ส่งจำหน่ายทั่วโลก กล่าวถึงปัญหาด้านการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกหลังเกิดน้ำท่วมใหญ่ในภาคกลางของประเทศไทย ว่า ในส่วนของโรงงานชาร์พ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา แม้ไม่ได้รับผลกระทบจากการถูกน้ำท่วม แต่ผู้บริหารชาวญี่ปุ่นก็มีความสึกหวั่นวิตกต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จนต้องมีการเตรียมแผนรองรับมือ ทั้งการประกาศหยุดกระบวนการผลิต เนื่องจากคณะผู้บริหารไม่ทราบสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน และไม่ทราบว่าพนักงานของบริษัทกว่า 2,500 คนจะได้รับผลกระทบอย่างไร
ทั้งนี้ แม้โรงงานซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดฉะเชิงเทรา จะไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วม แต่ก็ไม่สามารถผลิตสินค้าได้อย่างเต็มรูปแบบ เนื่องจากโรงงานซัปพลาย (ผู้ผลิตชิ้นส่วน) ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 6 แห่งในภาคกลางถูกน้ำท่วมหมด จนไม่สามารถผลิตชิ้นส่วนส่งมาให้แก่โรงงานชาร์ป ซึ่งถือว่าที่ผ่านมา เป็นผลกระทบใหญ่ของชาร์ปเช่นกัน
“แม้ผู้บริหารระดับสูงชาวญี่ปุ่นและบริษัทแม่ของชาร์ป จะเตรียมการรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมไว้ก่อนหน้าแล้วตั้งแต่แรกเริ่มของการเกิดวิกฤต ด้วยการปรับเปลี่ยนแหล่งที่มาของวัตถุดิบ และนำเข้าชิ้นส่วนจากต่างประเทศ ทั้งเกาหลี จีน และบราซิล เมื่อต้นเตือนตุลาคมที่ผ่านมา แต่เนื่องจากขณะนั้นเกิดความสับสนต่อสถานการณ์และขาดความชัดเจนในด้านข้อมูลข่าวสารจากทางภาครัฐ จึงทำให้บริษัทต้องประกาศหยุดกระบวนการผลิต และปิดโรงงานชั่วคราว ทำให้การผลิตหยุดชะงัก
ขณะเดียวกัน การนำเข้าชิ้นส่วนทดแทน ก็ต้องมีชั้นตอนในการขอเปลี่ยนแปลงเซฟตี้ แสตนดาร์ดใหม่ ซึ่งต้องผ่านขบวนการรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรม และลูกค้า จึงทำให้การผลิตก็ยังไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างสมบูรณ์ เนื่องจากโรงงานผู้ผลิตชิ้นส่วนให้ชาร์พภายในประเทศไม่สามารถผลิตชิ้นส่วนได้ ทำให้ต้องเสียออเดอร์ไป”
นายไพศาล กล่าวต่อว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งหมดเชื่อว่าเกิดจากความไม่ชัดเจน และขาดข้อมูลที่น่าเชื่อถือจากทางภาครัฐ ทำให้การบริหารจัดการของภาคเอกชนเป็นไปได้อย่างยากลำบาก ซึ่งจนถึงขณะนี้แม้หลายพื้นที่น้ำลดแล้วแต่รายละเอียดต่างๆ ก็ยังไม่มีความชัดเจน และหากรัฐบาลยังปล่อยเหตุการณ์ให้เป็นเช่นนี้ก็จะยิ่งเกิดความสูญเสียมากขึ้น