ศูนย์ข่าวศรีราชา - สหรัฐฯมอบเครื่องเอกซเรย์สารกัมมันตรังสีสุดไฮเทค ให้ศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง มูลค่าเกือบ 600 ล้านบาท ตามโครงการ Megaoorts Initiative
วันนี้ (16 ธ.ค.) ณ สถานีตรวจสอบสารกัมมันตรังสี ขั้นที่ 2 (SIS) นางจูดิธ เบธ เซฟคิน อัครราชทูตที่ปรึกษาและอุปทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย พร้อมด้วยนายไพศาล ชื่นจิตร ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดการใช้งานอุปกรณ์เฝ้าตรวจกัมมันตรังสี เชิงสเปกตรัม โดยมีเจ้าหน้าที่ศุลกากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมงานในครั้งนี้อย่างพร้อมเพรียง
นายไพศาล กล่าวว่า โครงการ Megaoorts Initiative เป็นความร่วมมือระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกา โดยสำนักงานความปลอดภัยทางนิวเคลียร์แห่งชาติ กระทรวงพลังงานแห่งสหรัฐอเมริกาและกรมศุลกากร กระทรวงพลังงาน ประเทศไทย ในการป้องกันการลักลอบขนส่งวัสดุกัมมันตรังสีผ่านทางท่าเรือขนาดใหญ่ทั่วโลก ดังนั้น จึงได้ลงนามในประกาศหลักการปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสองประเทศ เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.2546 ณ กรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา
ที่ผ่านมา ทางรัฐบาลสหรัฐอเมริกา โดยสำนักงานความปลอดภัยทางนิวเคลียร์แห่งชาติ ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคในรูปแบบของการติดตั้งอุปกรณ์ จัดหาเครื่องมือ วัสดุ จัดการฝึกอบรมและช่วยเหลือในการติดตั้งเครื่องตรวจจับมุ่งเน้นในการค้นหาวัตถุนิวเคลียร์พิเศษ เช่น ธาตุ Plutonium และ ธาตุ Uranium ที่มีความบริสุทธิ์ของ U-235 ตั้งแต่ 20 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป โดยติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าว ณ ท่าเรือแหลมฉบัง
นายไพศาล กล่าวต่อว่า การปฏิบัติการนั้นได้ดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบเมื่อวันที่ 16 มี.ค.52 ที่ผ่านมา เป็นการดำเนินการตามโครงการเฟส 1 โดยให้รถบรรทุกทุกคันขับผ่านช่องทางตรวจรังสี ซึ่งมีเครื่องตรวจจับวัตถุนิวเคลียร์ และสารกัมมันตรังสี ทั้งสิ้น 22 เครื่องอยู่ภายในบริเวณท่าเรือแหลมฉบัง
ทั้งนี้ หากรถคันใดไม่มีสารกัมมันตรังสี พนักงานขับรถจะได้รับบัตรผ่านจากเครื่องจ่ายบัตร ที่อยู่บริเวณจุดสิ้นสุดของแต่ละช่องทาง ซึ่งบัตรผ่านดังกล่าวจะต้องนำไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรที่ประตูผ่านเข้าท่าฯ หรือประตูออกจากท่าฯ แต่หากตู้สินค้าใดมีสารกัมมันตรังสี จะก่อให้เกิดสัญญาณเตือน ณ สถานีแจ้งเตือนกลาง ซึ่งอยู่บริเวณเดียวกับสถานีตรวจสอบกัมมันตรังสีขั้นที่ 2 แต่เป็นการตรวจด้วยเครื่องตรวจแบบพกพา เพื่อทำการตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง
การดำเนินการที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ศุลกากรได้ตรวจพบการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีจากสินค้านำเข้า จำนวน 2 ครั้งเท่านั้น โดยพบเป็นการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีชนิด Cobalt-60 ทางศุลกากรได้ประสานงานกับสำนักงานกำกับดูแลความปลอดภัยทางรังสี สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติร่วมตรวจสอบซ้ำ และผลสรุปตรงกัน จึงดำเนินการผลักดันตู้สินค้าดังกล่าวกลับสู่ประเทศต้นทาง
นายไพศาล กล่าวว่า เพื่อความปลอดภัยของสองประเทศ โดยเฉพาะประเทศสหรัฐฯ ดังนั้นสหรัฐฯ จึงใช้งบประมาณเกือบ 600 ล้านบาท ติดตั้งเครื่องตรวจจับวัตถุนิวเคลียร์และสารกัมมันตรังสี สำหรับใช้ในการตรวจสอบสารกัมมันตรังสีขั้นที่ 2 เพิ่มอีก 1 เครื่อง เรียกว่า Spectroscopic Portal Monitor (SPM) แล้วเสร็จเมื่อเดือนต.ค. 2554 ซึ่งเป็นเครื่องที่ทันสมัยที่สุดในขณะนี้ โดยสามารถตรวจจับสารกัมมันตรังสีและระบุชนิดของสารได้ในทันที ซึ่งช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และในวันนี้ จึงได้มีพิธีมอบอย่างเป็นทางการและดำเนินการตรวจสอบตู้สินค้าด้วย