การตระเวนเปิดหมู่บ้านเสื้อแดงหลายจังหวัดภาคเหนือถี่ยิบในห้วงที่ผ่านมา ไล่ตั้งแต่พิษณุโลก อุตรดิตถ์ แพร่ พะเยา เชียงราย เชียงใหม่ ฯลฯ ดูเหมือนจะทำยอดหมู่บ้านแดงในภาคเหนือเพิ่มขึ้นถล่มทลาย เพราะแต่ละจุดมีการปั้นตัวเลขได้เป็นกอบเป็นกำ
ล่าสุดแกนนำเสื้อแดงประกาศอย่าง นพ.ประสงค์ บูรณ์พงศ์ ที่ปรึกษามูลนิธิ 111,ประธานที่ปรึกษาสมาพันธ์หมู่บ้านเสื้อแดง ที่นำทีมแกนนำเช่น ทอม ดันดี -ดาม ดัสกร -อรรถชัย อนันตเมฆ และนางดารณี กฤตบุญญาลัย ฯลฯ ตระเวนเปิดหมู่บ้านเสื้อแดงในภาคเหนือ บอกที่ลำปาง ระหว่างเปิดหมู่บ้านเสื้อแดงเขต อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง เย็นวันที่ 21 พ.ย.54 ว่า มีหมู่บ้านเสื้อแดงทั่วประเทศแล้วร่วม 6,070 หมู่บ้าน
โดยมีเป้าหมายประกาศตั้งหมู่บ้านเสื้อแดงทั่วประเทศมากกว่า 30,000 หมู่บ้านขึ้นไป
แต่ละจุดที่บรรดาแกนนำเยื้องกรายเข้าไปนำทีมตัดริบบิ้นเปิดเป็นหมู่บ้านเสื้อแดงในภาคเหนือนั้น ล้วนแต่ประกาศยอดหมู่บ้านแดงจัดตั้งของพวกเขาเป็นตัวเลข 10 หรือ 20 บ้างก็ 40 กว่าหมู่บ้านต่อจุดทั้งสิ้น
อย่างไรก็ตาม **เนื้อในของหมู่บ้านเสื้อแดงที่มีการประกาศจัดตั้งขึ้นนี้ กลับมีความสับสน คลุมเครือทั้งในแง่ตัวเลขจำนวนหมู่บ้าน ตลอดจนวาทกรรมที่นำมารับใช้เป้าหมายการนำ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ กลับประเทศไทย
ด้วย นพ.ประสงค์ เป็นคนที่ออกมายอมรับด้วยปากของตัวเอง เมื่อคราวนำทีมไปเปิดหมู่บ้านเสื้อแดงที่วัดคีรีธรรมาราม เลขที่ 209 บ้านทุ่งผักกูด ม.13 ต.ป่าหุ่ง อ.พาน 18 หมู่บ้านใน ต.ป่าหุ่ง อ.พาน สุดสัปดาห์ก่อนหน้านี้ ซึ่งมีกลุ่มคนเสื้อแดงไปร่วมประมาณ 60 คน ว่า มีคนเสื้อแดงบางกลุ่มจัดตั้งหมู่บ้านเสื้อแดง เพื่อหวังได้เงินจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร**
“เป็นพฤติกรรมที่หวังได้เงินเข้ากระเป๋าตัวเองฝ่ายเดียวด้วย” นพ.ประสงค์ กล่าวย้ำ
ขณะเดียวกันภายใต้วาทกรรมการเปิดหมู่บ้านเสื้อแดง ที่กู่ร้องกันว่า เพื่อเป้าหมายแย่งชิงประชาธิปไตยจากเผด็จการนั้น นพ.ประสงค์ กลับหยิบยกเอาคำของ “เหมาเจ๋อตง” อดีตประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ยึดอำนาจอธิปไตยจาก “เจียง ไคเช็ค” มารับใช้เป้าหมายการเปิดหมู่บ้านเสื้อแดง
ซึ่งประเด็นนี้ตอกย้ำด้วยกรณีที่มีแกนนำเสื้อแดงเดินสายไปเปิดหมู่บ้านเสื้อแดงที่ ต.ป่าคาย - ต.น้ำพี้ อ.ทองแสนขัน จ.อุตรดิตถ์ เมื่อ 8 พ.ย.54 ที่ผ่านมา และมีการประกาศว่า มีการเปิดหมู่บ้านแดงรวม 20 หมู่บ้านใน 2 ตำบลนี้
แต่ปรากฏว่า นายดำเนิน อินทะเรืองรุ่ง นายก อบต.ป่าคาย และนายสมชาย น้อยท่าช้าง อดีต ผญบ.หมู่ 4 บ้านป่าคาย ต่างออกมายืนยันว่า กรณีนายดาชัย อุชุโกศลการ รองประธานสมาพันธ์หมู่บ้านเสื้อแดงเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย และนางดารุณี กฤตบุญญาลัย แกนนำคนเสื้อแดง และคณะ ได้ร่วมกันเปิดหมู่บ้านแดงในพื้นที่ ต.ป่าคาย และ ต.น้ำพี้ นั้น ตรวจสอบทุกหมู่บ้านแล้ว ไม่มีการเปิดหมู่บ้านเสื้อแดงมากมายเหมือนที่กล่าวอ้าง โดยมีการทำพิธีกันหมู่บ้านเดียวคือ บ้านป่าคาย หมู่ 4 แต่มีชาวน้ำพี้ไปร่วมไม่กี่คนเท่านั้น
นายสมชาย น้อยท่าช้าง อดีต ผญบ.หมู่ 4 สำทับด้วยว่า กิจกรรมดังกล่าวมีอดีตผู้สมัครนายก อบต.ป่าคาย รายหนึ่งเป็นแกนนำ เพื่อหวังผลจะลงรับสมัครเลือกสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุตรดิตถ์ เขต อ.ทองแสนขัน เท่านั้น
นายสมชาย ย้ำด้วยว่า คงเป็นไปไม่ได้ที่ 2 ตำบลจะมีการเปิดหมู่บ้านคนเสื้อแดง 20 หมู่บ้าน เพราะ 2 ตำบลมีหมู่บ้านไม่ถึง 20 หมู่ด้วยซ้ำไป
สอดคล้องกับพื้นที่พิษณุโลก ที่จนถึงวันนี้ หมู่บ้านเสื้อแดง ยังคงปรากฏเฉพาะพื้นที่ฐานเสียงของ ส.ส.เพื่อไทยเท่านั้น คือ แถบ อ.พรหมพิราม อ.บางกระทุ่ม ฐานเสียง ส.ส.พท.เขต 2 และ 4 ตามลำดับ ขณะที่ อ.นครไทย หรือวังทอง ไม่ปรากฏธงหมู่บ้านเสื้อแดงโผล่ให้เห็น เพราะเป็นถิ่นของ ปชป.
และเมื่อตรวจสอบลึกลงไปก็จะพบว่า หมู่บ้านเสื้อแดงที่ไปเปิดในตำบลนั้นๆ เป็นหัวคะแนน ของ ส.ส.เพื่อไทย ทั้งสิ้น
อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวของการเปิดหมู่บ้านเสื้อแดงในภาคเหนือ ก็ยังคงมีประเด็นที่น่าสังเกตเกิดขึ้น กล่าวคือ พื้นที่เมืองแพร่ มีกระแสข่าวแพร่สะพัดเช่นกันว่า มีการเร่งระดมจัดตั้งหมู่บ้านเสื้อแดง ให้เกิดขึ้นทุกหมู่บ้านในเขต อ.เด่นชัย แม้ว่าหมู่บ้านใดที่ไม่สามารถจัดตั้งได้ ก็จะตั้งศูนย์ประสานงานกลุ่มคนเสื้อแดง กิจกรรมดังกล่าวมีเงินงบประมาณให้กับแกนนำจัดตั้งหน่วยละ 100,000 บาท ซึ่งมีการประชุมลับไปแล้วมีแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงใน อ.เด่นชัย กว่า 100 คน รับภารกิจในการเร่งจัดตั้งให้ได้โดยเร็ว
และที่ อ.ลอง จ.แพร่ กลุ่มผู้ใหญ่บ้านกำนันที่นิยม นปช.กำลังนำเงินลงให้ชาวบ้านครอบครัวละ 500 บาท เพื่อขอบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้าน ไปประกอบการจัดตั้งหมู่บ้านเสื้อแดงเช่นกัน
กรณีนี้นับเป็นคำถามที่ท้าทายสำหรับอุดมการณ์เรียกร้องประชาธิปไตย ของหมู่บ้านเสื้อแดงเพื่อประชาธิปไตย เป็นอย่างยิ่ง
นอกเหนือไปจากปัญหาใหญ่ ที่ “หมู่บ้านเสื้อแดงเพื่อประชาธิปไตย(?)” ต้องตอบในประเด็นเรื่องผลกระทบต่อ 3 สถาบันหลักของชาติ รวมถึงการเพิ่มความแตกแยกในสังคม