อุบลราชธานี- ชาวบ้านอุบลราชธานี น้ำใจงามจับกลุ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ต้นกล้ากว่า 30,000 ถุง ส่งให้ชาวบ้านภาคกลางที่ผลผลิตได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม เพื่อให้มีไม้ผลและพืชผักสวนครัวไว้กินในยามทุกข์ยาก ไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากใคร ด้านระดับแม่น้ำมูลลดลงอีก แต่ชาวบ้านกว่า 2 พันครอบครัวยังต้องอยู่ในศูนย์อพยพ สัตว์เลี้ยงขาดแคลนหญ้าแห้ง และหลายคนต้องเปลี่ยนอาชีพ เพราะผลกระทบจากน้ำท่วม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ชุมชนเกตุแก้ว เทศบาลเมืองวารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมที่รวมตัวกับองค์กรพัฒนาเอกชน ร่วมกันนำเมล็ดพันธุ์พืชผักสวนครัว และไม้ผล อาทิ ข่า ตะไค้ ใบมะกรูด มะนาว มะม่วง มะปราง ลำใย เพาะลงในถุงกว่า 30,000 ถุง เตรียมนำไปมอบให้กับชาวบ้านในเขตรอบปริมณฑลกรุงเทพฯ ที่พืชผลถูกน้ำท่วมเสียหาย
ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตในอนาคต เพราะไม่มีพืชผักสวนครัว ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญใช้ปรุงอาหารได้ปลูกไว้กินเอง
นายศักดิ์สิทธิ์ บุญญะบาล ผู้ประสานงานของชาวบ้านที่ร่วมกันเพาะเมล็ดพันธุ์ต้นกล้าครั้งนี้ กล่าวว่า อุทกภัยน้ำท่วมภาคกลางครั้งนี้ ทำความเสียหายให้กับพื้นที่ทางการเกษตร รวมทั้งพื้ชผักสวนครัวที่ชาวบ้านได้ปลูกไว้กินเองจำนวนมาก จึงรวมตัวกันเพาะต้นกล้าที่ชาวบ้านมีอยู่แล้ว ส่งไปสนับสนุนให้พี่น้องในภาคกลางที่สูญเสียผลผลิต ได้มีพืชผักสวนครัวไว้กินเอง เป็นการช่วยลดภาระค่าครองชีพหลังน้ำลด สำหรับเมล็ดพันธุ์ต้นกล้าที่เพาะทั้งหมด จะเริ่มส่งไปให้หลังน้ำลดจนเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว
ด้าน น.ส.บูรณา แสงทอง ชาวบ้านชุมชนลับแลที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมครั้งนี้ และเข้าร่วมเพาะต้นกล้ากล่าวถึงความสุขที่ได้ทำ ว่า ได้เผื่อแผ่ต้นกล้าที่ยังเหลืออยู่ในจังหวัดอุบลราชธานี ให้ชาวบ้านที่ประสบภัยน้ำท่วม หรือเป็นชาวบ้านยากจนในภาคกลาง ซึ่งสูญเสียผลผลิตจนไม่มีเมล็ดพันธุ์ต้นกล้าใช้ปลูกไว้กิน
จึงนำเมล็ดต้นกล้าที่มีมารวมกันให้ความช่วยเหลือผู้ที่ขาดแคลน เพื่อลดความทุกข์ที่เกิดขึ้น แม้จะเป็นเพียงสิ่งของเล็กน้อย แต่คือน้ำใจจากชาวบ้านอีสานที่ถูกน้ำท่วม แต่ยังมีเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกกินเอง
สำหรับระดับน้ำท่วมในชุมชนเทศบาลนครอุบลราชธานี เทศบาเลมืองวารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ยังมีน้ำล้นตลิ่งสูง 1.83 เมตร โดยวันนี้ แม่น้ำมูลที่สถานีวัดน้ำสะพานเสรีประชาธิปไตย อ.เมือง น้ำลดลงอีก 12 เซนติเมตร แต่ระดับน้ำที่ยังล้นตลิ่ง ทำให้ชาวบ้านที่อพยพหนีน้ำท่วมกว่า 2 พันครอบครัว เมื่อ 3 เดือนก่อน ยังต้องอาศัยอยู่ในศูนย์อพยพที่กระจายอยู่ตามจุดต่างๆทั่วเมือง และเจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ยังต้องนำรถบรรทุกน้ำส่งน้ำกินน้ำใช้ให้กับชาวบ้านที่อยู่ในศูนย์อพยพ
รายงานข่าวแจ้งว่า จากปัญหาที่ชาวบ้านยังไม่สามารถกลับเข้าไปพักอาศัยในบ้านได้ตามปกติ ทำให้บางครอบครัวที่มีสัตว์เลี้ยง เช่น วัว ควาย สุกร ต้องนำสัตว์เลี้ยงสร้างคอกอยู่ด้านหลังศูนย์อพยพ และกำลังประสบปัญหาขาดแคลนหญ้าแห้งให้สัตว์เลี้ยงกิน รวมทั้งชาวบ้านที่มีอาชีพรับจ้างชำแหละเนื้อวัว ต้องไปรับจ้างทำงานอื่น เนื่องจากเจ้าของเขียงเนื้อไม่สามารถประกอบอาชีพได้ เพราะเป็นผู้ประสบภัยเหมือนกัน และจะกลับมาประกอบอาชีพอีกครั้ง หลังน้ำกลับเข้าสู่ภาวะปกติในราวปลายเดือนหรือต้นเดือนธันวาคมศกนี้