อุบลราชธานี - แม่น้ำมูล อุบลราชธานี เริ่มทรงตัว แต่ระดับน้ำท่วมยังสูง ส่วนสำนักชลประทานที่ 7 คาด มวลน้ำชุดสุดท้ายเดินทางมาถึงจังหวัดในปลายสัปดาห์หน้า ระดับน้ำจะปรับตัวลดลง เพราะในพื้นที่ไม่มีฝนตกลงมาแล้ว ด้าน อบจ.ยังเร่งพร่องน้ำจากแม่น้ำมูลลงแม่น้ำโขง เพื่อลดระดับน้ำท่วมในเขตจังหวัดให้เร็วที่สุด เพราะขณะนี้แม่น้ำโขงมีระดับน้ำต่ำกว่าแม่น้ำมูลถึง 7 เมตร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (28 ต.ค.) ระดับแม่น้ำมูล จ.อุบลราชธานี อยู่ในภาวะทรงตัว โดยมีระดับน้ำสูง 9.81 เมตร มีน้ำล้นตลิ่ง 2.81 เมตร แต่ระดับน้ำที่สูง ทำให้จังหวัดร่วมกับแขวงการทางและเรือนจำกลางอุบลราชธานี นำกระสอบทรายจำนวน 10,000 ใบ เรียงทำเป็นคันกั้นน้ำตามริมถนนบายพลาสเชื่อมไป 3 จังหวัด ที่อยู่ในจุดเสี่ยงตั้งแต่บ้านทัพไทยถึงบ้านท่าบ่อ ต.แจระแม อ.เมือง เพื่อไม่ให้น้ำไหลท่วมถนน ส่งผลกระทบต่อการจราจร
สำหรับสาเหตุที่ระดับแม่น้ำมูลเริ่มทรงตัว เพราะองค์การบริหารส่วนจังหวัดยังพร่องน้ำ โดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่บริเวณสะพานข้ามแม่น้ำมูล อ.พิบูลมังสาหาร และแก่งตะนะ อ.สิรินธร เพื่อดันน้ำจากแม่น้ำมูลให้ไหลลงแม่น้ำโขงเร็วขึ้น เพราะขณะนี้ระดับแม่น้ำโขงมีระดับน้ำต่ำกว่าแม่น้ำมูลถึง 7 เมตร จึงช่วยชะลอปริมาณน้ำท่วมในแม่น้ำมูลไม่ให้สูงอย่างรวดเร็ว และช่วยลดระดับน้ำท่วมขังในตัวจังหวัดให้คลี่คลายได้เร็วกว่าปกติด้วย
ด้าน นายพงษ์ศักดิ์ คำศรี หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทานโครงการโขง ชี มูล ตอนล่าง กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมใน จ.อุบลราชธานี ขณะนี้ระดับแม่น้ำมูลและแม่น้ำชีตอนบนคือ แม่น้ำมูลจาก จ.นครราชสีมา แม่น้ำชีที่รับน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น และเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ เริ่มมีระดับน้ำลดลง แต่ส่งผลกระทบต่อระดับน้ำท่วมใน จ.อุบลราชธานี เพราะเป็นพื้นที่รองรับน้ำของแม่น้ำทั้งสองสาย ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่ อ.โขงเจียม
ปัจจุบันที่สถานีวัดน้ำ M7 สะพานเสรีประชาธิปไตย อ.เมือง มีอัตราน้ำไหลผ่านวันละ 393 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 4,568 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ด้วยปริมาณน้ำที่มีจำนวนมหาศาล ทำให้จังหวัดยังมีน้ำไหลเข้ามาก แต่เนื่องจากแม่น้ำโขงขณะนี้ มีระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งเกือบ 7 เมตร ทำให้การระบายน้ำออกจากแม่น้ำมูลทำได้ดี
เมื่อมวลน้ำปริมาณมากชุดสุดท้ายไหลมาถึงในอีกประมาณ 10 วันข้างหน้า แม่น้ำมูลจะเริ่มทรงตัวและปรับตัวลดลง พร้อมคาดว่าระดับน้ำล้นตลิ่งสูงสุดจะอยู่ที่ 2.90-3.00 เมตร เพราะในพื้นที่ไม่มีฝนตกลงมาเกือบ 1 สัปดาห์แล้ว
และปัจจุบันสำนักชลประทานที่ 7 และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้เปิดประตูระบายน้ำทั้งฝายธาตุน้อย ฝายลำเซบาย ฝายยโสธร และเขื่อนปากมูล เพื่อให้น้ำไหลผ่านตลอดเวลา ส่วนตามอ่างเก็บน้ำทั้งขนาดใหญ่และขนาดกลาง ปัจจุบันมีปริมาณน้ำเก็บกักไว้ร้อยละ 90 จึงมีน้ำเพียงพอใช้ในการเพาะปลูกในเขตชลประทานในฤดูแล้งปีหน้าด้วย