xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ประกอบการที่อยุธยา-ปทุมฯ หนีน้ำท่วมไปตะวันออกหลังเสียหายหนัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายปรีชา จรเณร ผู้อำนวยการสำนักงานการนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี
ศูนย์ข่าวศรีราชา -โรงงานอุตฯ ย่านพระนครศรีอยุธยา-ปทุมธานีให้ความสนใจพื้นที่ภาคตะวันออก หลังประสบปัญหาน้ำท่วมครั้งนี้ ส่งผลกระทบอย่างมาก จึงต้องคิดหาแนวทางการลงทุนครั้งใหม่อย่างมั่นคง

นายปรีชา จรเณร ผู้อำนวยการ สำนักงานการนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ส่งผลกระทบต่อนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ในการกำกับดูแลของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 3 แห่ง คือ 1.นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร 2.สวนอุตสาหกรรมบางปะอิน และ 3.นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) ว่า สำหรับนิคมฯ ทั้ง 3 แห่งได้รับผลกระทบอย่างหนัก เนื่องจากน้ำไหลท่วมพื้นที่ทั้งหมดของนิคมฯ ซึ่งมีโรงงานอุตสาหกรรมกว่า 300 แห่ง ทำให้ต้องหยุดดำเนินกิจกรรม 100% นอกจากนั้นยังมีนิคมฯ ของภาคเอกชนอีก 2 แห่ง 1.นิคมฯ โรจนะ และ 2.แฟคตอรี่แลนด์ ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ซึ่งสร้างความเสียหายต่อธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก

นายปรีชากล่าวต่อไปว่า ขณะนี้มีโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ที่ประสบภัยดังกล่าว ซึ่งบางโรงงานเตรียมย้ายจะฐานการผลิตมาในพื้นที่ภาคตะวันออก เช่น ที่จังหวัดชลบุรี ซึ่งมีนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ในการกำกับดูแลของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) คือ นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง, นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ส่วนนิคมฯของภาคเอกชน คือ สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์

การย้ายฐานการผลิตนั้น หลายโรงงานจะต้องคิดวางแนวทางในระยะยาว เพราะเป็นการลงทุนที่มหาศาล และต้องมีองค์ประกอบต่างๆด้วย เช่น วัตถุดิบ แรงงาน การคมนาคม ซึ่งหากสรุปและมีแนวทางความเป็นไปได้ ก็อาจจะต้องย้ายพื้นที่มาอย่างแน่นอน เพราะสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้น อาจจะเกิดขึ้นได้อีก หากหน่วยงานที่รับผิดชอบยังวางนโยบายและแนวทางในการป้องกันที่ไม่ชัดเจนหลังจากนี้

นายปรีชากล่าวต่อไปว่า สำหรับเหตุการณ์ที่น้ำท่วมในครั้งนี้จะต้องใช้เวลาในการปรับปรุงหรือฟื้นฟูสภาพพื้นที่หรือโรงงานอุตสาหกรรมจะต้องใช้เวลาอีกหลายเดือน ซึ่งปัญหาพนักงานโรงงานอุตสาหกรรม ที่เป็นลูกจ้างรายวัน และพนักงานระดับกลางจะต้องได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้อย่างแน่นอน และอาจจะต้องไหลมาทำงานในพื้นที่จังหวัดชลบุรีและใกล้เคียงอย่างแน่นอน เนื่องจากไม่มีรายได้ในการเลี้ยงตัวเองและครอบครัว เรื่องนี้โรงงานในนิคมฯ แหลมฉบัง และพื้นที่ใกล้เคียงยังมีความต้องการแรงงานมากกว่า 2,000 คน ซึ่งอาจเป็นไปได้ที่จะรองรับแรงงานดังกล่าวที่ประสบภัยครั้งนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น