xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯศรีสะเกษสั่งเฝ้าระวัง “น้ำมูล” ท่วมฉับพลัน-พร้อมอพยพ 3 อำเภอชายแดนเสี่ยง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสมศักดิ์  สุวรรณสุจริต  ผู้ว่าฯ ศรีสะเกษ
ศรีสะเกษ - ลุ่มน้ำสำคัญ ทั้ง แม่มูล-อ่างเก็บน้ำศรีสะเกษทุกแห่ง เต็มปริ่มล้นตลิ่ง ผู้ว่าฯ ศรีสะเกษ สั่งเฝ้าระวังทะลักท่วมฉับพลันพร้อมเสริมคันดินรับมือ ล่าสุด ท่วมพื้นที่เกษตรใน 11 อำเภอ 51 ตำบล 243 หมู่บ้าน ได้รับผลกระทบ 22,951 ครัวเรือน ส่วน 3 อำเภอชายแดนไทย-เขมร พื้นที่เสี่ยงภัยน้ำป่าและดินโคลนถล่ม เตรียมพร้อมอพยพชาวบ้านตลอดเวลา

วันนี้ (25 ก.ย.) นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำท่วมของ จ.ศรีสะเกษ ขณะนี้อยู่ในช่วงของการเฝ้าระวังปริมาณน้ำที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งในเบื้องต้นมี 11 อำเภอ 243 หมู่บ้านที่ได้รับความเดือดร้อน โดยส่วนใหญ่กระทบพื้นที่ทางการเกษตรในที่ลุ่มเป็นแอ่งรองรับน้ำ แต่ยังไม่กระทบบ้านเรือนราษฎร ซึ่งปัจจุบันถือว่ายังอยู่ในขั้นไม่รุนแรง หากไม่มีปริมาณน้ำเหนือหรือร่องความกดอากาศต่ำหรือลมมรสุมมาเพิ่มเติม ที่อาจจะทำให้ระบายน้ำออกได้ทัน

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อ่างเก็บน้ำทุกแห่งของ จ.ศรีสะเกษ มีปริมาณน้ำเต็มความจุหมดแล้ว และลุ่มน้ำสำคัญๆ เช่น แม่น้ำมูล ปริ่มล้นตลิ่ง หมายถึงต้องอยู่ในขั้นเฝ้าระวังตลอดเวลา หากมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่องทุกวัน อ่างเก็บน้ำที่มีอยู่ในพื้นที่ต้องทยอยพร่องน้ำ และสิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ มวลน้ำเหนือที่จะเคลื่อนตัวมาจาก จ.นครราชสีมา บุรีรัมย์ และ จ.สุรินทร์ ไหลผ่าน จ.ศรีสะเกษ ไปยัง จ.อุบลราชธานี และ ไหลลงแม่น้ำโขง ซึ่งขณะนี้ได้มีการเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันโดยเสริมคันดินตามริมแม่น้ำมูล เพื่อป้องกันน้ำไม่ให้น้ำไหลเข้าพื้นที่การเกษตรและบ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย เนื่องจาก จ.ศรีสะเกษ และ จ.อุบลราชธานีเป็นช่วงปลายน้ำ

ทางด้าน นายสุขสันต์ บุญโทแสง หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีร่องความกดอากาศต่ำเกิดฝนตกมาอย่างต่อเนื่องพื้นที่ประสบอุทกภัยจึงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขณะนี้ มี 11 อำเภอ 51 ตำบล 243 หมู่บ้าน มีผู้ที่ได้รับความเดือนร้อน หรือได้รับผลกระทบ จำนวน 22,951 ครัวเรือน เพิ่มขึ้นจากเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่มีเพียง 11 อำเภอ 15 ตำบล 85 หมู่บ้าน 2,613 ครัวเรือน 13,065 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า โดยส่วนใหญ่เป็นการท่วมพื้นที่ทำการเกษตร ส่วนถนนเสียหายเป็นบางเส้นทาง หนักสุดมี 3 เส้นทาง

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์น้ำท่วม จ.ศรีสะเกษ ปีนี้ มีโอกาสรุนแรงมากกว่านี้ เนื่องจาก จ.ศรีสะเกษ จากสถิติเหตุการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมา จะเริ่มเดือน ก.ย.-ต.ค.และท่วมสูงสุดประมาณกลางเดือน ต.ค.แล้วจะค่อยๆ ลดลง

สำหรับพื้นที่ตามที่ราบเชิงเขา โดยเฉพาะพื้นที่ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนไว้เป็นพื้นที่เสี่ยงภัย น้ำป่าไหลหลากและพื้นที่ดินโคลนถล่ม เช่น อ.กันทรลักษ์, ขุนหาญ และ ภูสิงห์ นั้น หากมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นพร้อมอพยพชาวบ้านได้ทันที โดยได้มีการซ้อมแผนอพยพในหมู่บ้านแล้ว พร้อมตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย ตั้งแต่ระดับจังหวัด อำเภอ และ เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ทุกแห่ง ซึ่งในระดับ จ.ศรีสะเกษ ได้เตรียมเครื่องมือ อุปกรณ์ เครื่องจักร ที่จำเป็นในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมให้การสนับสนุนพื้นที่ที่เกิดเหตุได้ทันที
กำลังโหลดความคิดเห็น