พิษณุโลก - บสย.ประกาศผลดำเนินการปี 54 ลูกค้าเพิ่ม 77% มั่นใจอนุมัติสินเชื่อถึงเป้า 3,500 ล้านแน่ ประเมินลูกค้า 9 จังหวัดเหนือล่างเจอพิษน้ำท่วมเงินสูญ 250 ล้าน-ภาคธุรกิจเกษตรหนักสุด คาดตัวเลขลูกค้าโดนอุทกภัยแตะหลัก 500 พร้อมเผยเตรียมจัดสัมนนาเรื่องเขตการค้าเสรี 7 ต.ค.นี้ เชิญผู้ว่าฯ แบงก์ชาติบรรยายธุรกิจการเงินไทยรับมือค้าเสรีอาเชียน
วันนี้ (23 ก.ย.) ที่สำนักงานบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม สาขาพิษณุโลก นายคมสัน วัฒนวนาพงษ์ ผู้จัดการบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) สำนักงานสาขาพิษณุโลก แถลงข่าวการจัดงาน “เขตการค้าเสรี โอกาสของ SMEs” และ ผลดำเนินงานปี 2554 ในเขตภาคเหนือตอนล่าง 9 จังหวัด
นายคมสัน กล่าวว่า บสย.ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ และชมรมธนาคารภาคเหนือ 17 จังหวัด กำหนดจัดงานสัมมนาและตลาดนัดการเงิน “เขตการค้าเสรี : โอกาสของ SMEs” ในวันศุกร์ที่ 7 ต.ค.เวลา 12.30-18.00 น.ณ ห้องคอนเวนชั่น โรงแรมอมรินทร์ลากูน โดยมี นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ให้เกียรติเป็นวิทยากรปาฐกถาพิเศษ พร้อมทั้ง นายณรงค์ เจียรวนนท์ กรรมการ บมจ.ทรู คอร์ปอเรนั่น และ บ.ซีพี ออลล์ กับ นายวิบูลย์ เพิ่มอารยวงศ์ กรรมการและผู้จัดการทั่วไปของ บสย.ร่วมบรรยายพิเศษในครั้งนี้ ซึ่งถือว่าไม่บ่อยครั้งนัก ที่ในส่วนภูมิภาคจะมีการจัดงานเกี่ยวกับเขตการค้าเสรีในภาคการเงินในพื้นที่ เพราะทุกครั้งที่ผ่านมาการจัดงานในลักษณะดังกล่าวจะเน้นที่ภาคธุรกิจการค้ามากกว่า
ด้านผลการดำเนินงานของ บสย.ณ วันที่ 22 ก.ย.2554 ในพื้นที่ภาคเหนือล่าง 9 จังหวัด มียอดอนุมัติสินเชื่อ 2,703 ล้านบาท มีลูกค้าที่ได้รับการค้ำประกัน 1,080 ราย เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 77% ซึ่งตลอดทั้งปี บสย.ตั้งเป้าไว้ 3,500 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมาย
ทั้งนี้ จ.นครสวรรค์ เป็นจังหวัดที่มีลูกค้าใช้บริการสูงสุด มียอดค้ำประกันสินเชื่อ 525 ล้านบาท รองมาคือ จ.กำแพงเพชร จำนวน 416 ล้านบาท และ จ.พิษณุโลก 408 ล้านบาท ขณะที่ยอดหนี้เสียอยู่ที่ 1.4% โดยธุรกิจที่ได้รับการอนุมัติสูงสุดคือภาคธุรกิจเกษตร ประมาณ 900 ล้านบาท จากยอดรวม 2,703 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ลูกค้ากำลังได้รับผลกระทบจากอุทกภัยน้ำท่วม โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจเกษตร ซึ่งในเบื้องต้นมีภาคธุรกิจของ จ.พิษณุโลก และ จ.สุโขทัย ได้รับผลกระทบโดยตรง ส่วน จ.นครสวรรค์และ จ.ชัยนาท กำลังรอประเมินตัวเลขความเสียหายอยู่ โดยลูกค้า บสย.ใน 9 จังหวัดที่ได้รับความเสียหายจากภัยน้ำท่วม ทราบแล้วประมาณ 150 ราย คาดว่า ตัวเลขจะเพิ่มถึงระดับ 500 ราย จากยอดลูกค้าทั้งสิ้น 5,000 ราย ส่วนมูลค่าความเสียหายยังไม่ชัดเจน จากการประเมินเบื้องต้นน่าจะเฉลี่ยที่ระดับ 5 แสนบาทต่อราย หรือคิดเป็นยอดรวมประมาณ 250 ล้านบาท
สำหรับแนวทางการให้ความช่วยเหลือ หากเป็นลูกค้าของ บสย.ก็จะมีการยืดเวลาเสียค่าธรรมเนียมค้ำประกันออกไปอีก 6 เดือน ส่วนลูกค้าเอสเอ็มอีสามารถขอวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ซึ่งมีวงเงินถึงพันล้านบาท หรือเฉลี่ยต่อรายไม่เกิน 1 ล้านบาทได้