xs
xsm
sm
md
lg

อบจ.พิษณุโลก ร่วมหนุน-ดึงเด็ก นร.วัดโพธิ์ตั้ง“ลิเก”-โชว์วิถีไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พิษณุโลก - ผอ.โรงเรียนวัดโพธิ์ฯ นำทีมระดมเด็กนักเรียนตั้งคณะลิเก โชว์วัฒนธรรมไทย รับงานวันหยุด อบจ.สองแควหนุนงบ หวังอนุรักษ์วัฒนธรรม ก่อนที่ลิเกไทยกำลังสูญหาย อาจเห็นเพียงสัญลักษณ์ “ลิเกแก้บน”

ในยุคสมัยหนึ่ง “ลิเก”เคยเฟื่องฟู หลายคนพบเห็นกลุ่มบ้านพักลิเกอยู่ริมแม่น้ำน่าน หลังวัดท่ามะปราง จ.พิษณุโลก แต่ปัจจุบันทั้งบ้านและคนเล่น“ลิเก”กำลังจะสูญหาย ต่อไปอาจเห็นเพียงสัญญาลักษณ์ ลิเกแก้บน กระทั่งวันนี้ที่พิษณุโลก พบว่า “ลิเก”กำลังถูกปลุกปั้นขึ้นมาใหม่ โดยมีเด็กๆ โรงเรียนวัดโพธิญาณ ต.หัวรอ อ.เมือง จ.พิษณุโลก เป็นตัวชูโรง

นายนิรันดร์ มากำเนิด ผอ.โรงเรียนวัดโพธิ์ฯ บอกว่า ตนเป็นคนรักศิลปะลิเก ตั้งความหวังว่า จะสร้างเยาวชนให้เกิดความรักในลิเกไทยตั้งแต่ปี 2538 เคยเปิดรับสมัครจากเด็กนักเรียนในโรงเรียน ว่าใครมีความประสงค์จะเรียนรู้ลิเก ปรากฏว่ามีเด็กนักเรียนสนใจ จากนั้นค่อยๆฝึกสอนการร้องรำลิเกร่วมๆ 3 รุ่น กระทั่งฝึกหัดรุ่นปัจจุบันนี้ ก็ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก อบจ.พิษณุโลก ทำให้มีเด็กนักเรียนสามารถก่อตั้งเป็นคณะลิเกสำเร็จ ใช้ชื่อว่า “ร่มโพธิ์ทอง”

คณะลิเกเยาวชน ร่มโพธิ์ทอง คือ เด็กโรงเรียนวัด ส่วนใหญ่มีฐานะยากจน กำพร้า กินนอนที่โรงเรียนประจำ และชอบลิเก หลังจากมีงบ อบจ.พิษณุโลก ก็มีเงินจ้างครูลิเกมาอบรมสั่งสอนเรื่อยๆ อาทิ นายณรงค์ บัวคำ และนายทวี เที่ยงแท้ ซึ่งสมัยก่อนลิเกเขารู้จักกันในนาม “ชัยพร ลูกบ้านแพน” เพราะมีลูกศิษย์ร่ำเรียน จนสามารถตั้งคณะลิเกได้ อาทิ คณะฉลองชัย เทพบุตร

เนื้อหาลิเก ตามท้องเรื่อง นิยมหยิบยกนิทานไทย เช่น พระอภัยมณี, เจ้าเงาะ ฯลฯ มาเดินเรื่อง ก็ทำให้เด็กนักเรียนเข้าใจบทง่ายขึ้น

อย่างไรก็ตามล่าสุดยังไม่เคยกำหนดราคาค่าแสดงในแต่ละงาน มีเพียงเล่นโชว์ในวันหยุด เสาร์-อาทิตย์ พร้อมๆกับได้รับเงินค่าแรงเป็นครั้งคราว

นายเศรษฐา กิตติจารุรักษ์ ส.อบจ.พิษณุโลก กล่าวว่า ตนเสนอโครงการไปที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก พร้อมของบประมาณมาสนับสนุน เนื่องจากทางโรงเรียนไม่มีทุน นำมาจัดซื้ออุปกรณ์และเครื่องแต่งตัวลิเก ทราบว่า งบที่จัดมาให้ 150,000 บาท ก็นำไปตัดชุดและค่าใช้จ่ายฝึกซ้อมอื่นๆ

อาทิ ค่าชุด หากครบเครื่องจริงๆแพงถึงชุดละ 10,000-30,000 บาท เหตุที่สนับสนุนก็เพราะ ลิเกเคยอยู่คู่เมืองพิษณุโลก เคยเป็นแสดงที่ตลาดสดทุกเสาร์-อาทิตย์คนชมมากมาย แต่วันนี้ลิเกตกยุคไปแล้ว ไม่เคยพบเห็น คิดว่า ควรอนุรักษ์ลิเกให้เยาวชนรุ่นหลังรู้จักบ้าง เพราะเป็นศิลปวัฒนธรรมไทย บ่งบอกถึงภาษาและบทบาทตัวละคร

กำลังโหลดความคิดเห็น