ศูนย์ข่าวศรีราชา - มูลนิธิสว่างโรจนธรรมสถานสัตหีบ ชลบุรี ประกอบพิธีซีโกว หรือทิ้งกระจาด บริจาคเครื่องอุปโภค บริโภค ให้ทานมนุษย์ตกทุกข์ได้ยาก ส่งผลบุญดวงวิญญาณไร้ญาติ มีประชาชน คนเฒ่า คนชรา หญิงตั้งครรภ์ และสาวแม่ลูกอ่อน กว่า 3,000 คน ยอมทนความร้อนจากแสงแดด รอรับทานเนืองแน่น
วันนี้ (10 ส.ค.54) นายณรงค์ บุญบรรเจิดศรี ประธานมูลนิธิสว่างโรจนธรรมสถานสัตหีบ จังหวัดชลบุรี พร้อมคณะกรรมการ ได้จัดประเพณีทิ้งกระจาด แจกข้าวสาร อาหารแห้ง ให้ทานแก่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ตกทุกข์ได้ยาก เพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่ดวงวิญญาณไร้ญาติขาดมิตร ไม่มีผู้ใดทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ และเป็นการล้างหนี้กรรมตามความเชื่อกันว่า มนุษย์เมื่อเสียชีวิตละสังขารของตัวเองไปแล้ว จะอยู่ในโลกของวิญญาณ ต้องกินอาหารทิพย์ หรืออาหารที่ได้รับจากส่วนบุญส่วนกุศลที่มีผู้ทำบุญส่งมาให้เท่านั้น ไม่เช่นนั้นก็จะหิวโหยด้วยความทุกข์ทรมาน
นายณรงค์ บุญบรรเจิดศรี เปิดเผยว่า ในปีนี้ มีประชาชนในพื้นที่อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี มาขอรับข้าวสาร อาหารแห้ง ในพิธีซีโกว หรือการทิ้งกระจาด เป็นพิธีกรรมจีนอย่างหนึ่งที่นิยมจัดขึ้นในเทศกาลต่าง ๆ ของชาวจีน การให้ทานแก่วิญญาณไร้ญาติ เป็นที่นิยมของประชาชนในประเทศจีน ทั้งในงานศพ งานวันเกิด ในเทศกาลสารทจีนเดือน ๗ และในเทศกาลอื่น แม้แต่ในศาสนาเต๋าก็รับแนวคิดนี้จากพระพุทธศาสนา
นอกจากนี้ ยังเป็นประเพณีนิยมในประเทศที่รับพระพุทธศาสนาจากจีน เช่น ประเทศญี่ปุ่น และประเทศเกาหลี ก็ได้รับความนิยมเช่นกัน ในส่วนของประชาชนจีนทั่วไป เมื่อถึงวันที่กำหนดก็จะจัดมณฑลพิธี พร้อมนิมนต์พระสงฆ์มาสวดพระพุทธมนต์อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลแก่วิญญาณ ส่วนชาวจีนที่อยู่ตามถิ่นทุรกันดาร หรือพื้นที่ห่างไกล การนิมนต์พระสงฆ์เป็นไปด้วยความยากลำบาก ก็จะกระทำโดยการจัดเครื่องบูชาเซ่นไหว้ด้วยอาหารหวานคาวแก่วิญญาณเร่ร่อน และบรรพบุรุษ แทน
และยังได้กล่าวอีกว่า ในปีนี้มีประชาชนเดินทางมารับบริจาคข้าวสารกว่า 3,000 คน ซึ่งถือว่ามีจำนวนมากกว่าทุกปี เป็นสัญญาณส่งผลให้เห็นว่าในปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจของไทยกำลังถดถอย ประชาชนกำลังทุกข์ยาก และลำบาก เมื่อมีโอกาสได้รับของฟรี หรือของแจก ก็ต้องแห่กันมารับ จากภาพที่ปรากฏในปีนี้จะพบเห็นคนชราจำนวนมาก ที่ถูกบุตรหลานทอดทิ้งให้ผจญชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยว และภาพหญิงสาวอายุประมาณ 18-20 ปี หอบลูกน้อยตาดำ ๆ กระเต็ง ตากแดดตากลม มาเข้าแถวรอรับ โดยไม่มีสามีมาคอยดูแล ช่างเป็นภาพที่สมเพศยิ่งนัก แต่ทุกคนเมื่อได้รับข้าวสารแม้มีจำนวนที่ไม่มากนัก แต่ก็พอประทังชีวิตไปได้ระยะเวลาหนึ่ง ก็สร้างรอยยิ้ม และความสุข ที่บ่งบอกบนใบหน้า ให้พวกเขาไม่รู้สึกถูกสังคมทอดทิ้ง