สกลนคร - เกษตรกรปลูกยางพาราในพื้นที่ 3 อำเภอของ จ.สกลนครได้รับผลกระทบจากพิษพายุนกเตนอย่างหนัก ต้นยางพาราหักโค่นเสียหายกว่า 2 แสนต้น กว่า 5 พันไร่ บุกร้องขอความช่วยเหลือจากทางจังหวัด ด้านผู้ว่าฯ ชี้อีก 3 วันลงพื้นที่ตรวจสอบช่วยเหลือ พร้อมสั่งการ ปภ.เร่งสำรวจความเสียหายรายงานด่วน
ภายหลังจากที่พายุโซนร้อน “นกเตน” ทำให้หลายอำเภอของสกลนครถูกน้ำท่วม นาข้าวถูกน้ำท่วมหลายหมื่นไร่ ต้นยางพาราถูกลมพัดหักโค่น เสียหายหลายแสนต้น ถนนถูกตัดขาดเส้นทางสัญจรหลายสาย ขณะนี้น้ำยังท่วมขังอีกหลายหมู่บ้าน
ล่าสุด วันนี้ (4 ส.ค.) ที่ศาลากลางจังหวัดสกลนคร อำเภอเมือง เกษตรกรผู้ปลูกยางพารา จากพื้นที่ 3 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอเจริญศิลป์ อำเภอบ้านม่วง และอำเภอวานรนิวาส นำโดยนายผจญ นาคบุตร อายุ 64 ปี ชาวบ้านคูสะคาม อ.วานรนิวาส แกนนำกลุ่มเกษตรกรปลูกยาง ได้นำกลุ่มเกษตรกรเข้าร้องเรียนข้อความช่วยเหลือจากนายอำนาจ ผการัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร ภายหลังจากที่พายุนกเตนพัดถล่มต้นยางพาราหักโค่น และต้นไม้ล้มทับนาข้าวเสียหายเป็นบริเวณกว้าง และยังไม่ได้รับความช่วยเหลือหรือการสำรวจความเสียหายใดๆ จากหน่วยงานภาครัฐ
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 29 ก.ค.54 เวลาประมาณ 21.00-23.00 น. ได้เกิดพายุพัดลมแรงขึ้นในพื้นที่ ส่งผลให้ต้นยางพาราหักโค่นและต้นไม้หักทับนาข้าว เป็นบริเวณกว้างครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอ เสียหายกว่า 2 แสนต้นกินเนื้อที่กว่า 5 พันไร่ ซึ่งความเสียหายดังกล่าวสร้างความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรในพื้นที่เป็นอย่างมาก เนื่องจากหน่วยงานภาครัฐยังไม่เข้าดำเนินการช่วยเหลือหรือเข้าสำรวจความเสียหายแต่อย่างใด กลุ่มเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจึงได้รวมตัวร้องเรียนขอความช่วยเหลือจากทางจังหวัด
นายผจญ นาคบุตร แกนนำกลุ่มผู้ปลูกสวนยางพารา กล่าวว่า ตนเองมีพื้นที่ปลูกยางพาราทั้งหมด 25 ไร่ มีต้นยางเฉลี่ยไร่ละ 200 ต้น ซึ่งเพิ่งเริ่มทำการกรีดยางได้เพียง 4 เดือน และได้รับความเสียหายจากแรงลมพัดต้นยางหักโค่นทั้งหมด โดยที่ตนเองได้ลงทุนในการปลูกยางกว่า 330,000 บาท ทั้งยังได้เตรียมการขยายพื้นที่ปลูกอีก ก็ได้รับผลกระทบไปด้วย แม้ว่าที่ผ่านมาเคยมีนายทุนมาติดต่อขอซื้อที่ดิน และต้นยางพาราทั้งสวน สูงถึง 2.5 ล้านบาท ตนก็ไม่ยอมขาย
ทั้งนี้ เพราะต้องการเก็บไว้เป็นมรดกให้ลูกๆ แต่ทั้งหมดต้องมาพังทลายไปเพียงช่วงข้ามคืน สร้างความเดือดร้อนให้ตนเป็นอย่างมาก เพราะเงินที่มีอยู่ก็นำไปลงทุนทั้งหมดผ่านมาเกือบ 10 ปี ก็หวังจะได้คืนทุนแต่ก็มาเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นก่อน
ส่วนเกษตรกรรายอื่นๆ ก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักเช่นกัน บางรายถึงขั้นต้นยางพาราหักโค่นทั้งสวนกว่า 70 ไร่ ซึ่งพายุลูกนี้ถือว่ารุนแรง ส่งผลกระทบต่อพืชผลด้านการเกษตรเป็นอย่างมากในรอบ 10 ปี
ด้าน นายอำนาจ ผการัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร กล่าวภายหลังจากรับหนังสือร้องเรียนแล้วว่า ได้มีการประชุมหารือเพื่อหาแนวทางให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในเบื้องต้นแล้ว โดยได้สั่งการให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแก้ไขปัญหาให้เกษตรกรในเบื้องต้น โดยการเตรียมแจกจ่ายเชือกเพื่อไปมัดและยึดต้นยางพาราที่เสียหายไม่มากให้กลับมายืนต้นเพื่อการฟื้นฟู ฃ
นอกจากนี้ ต้องลงพื้นที่ตรวจสอบความเสียหายในอีก 2-3 วัน เพื่อรับฟังปัญหาและให้การช่วยเหลือได้ตรงจุด ทั้งนี้ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจความเสียหายและผลกระทบต่างๆ เพื่อรายงานมาที่ตน และให้ความช่วยเหลือต่อไป