xs
xsm
sm
md
lg

สถาบันคุ้มครองเงินฝากจับมือ ก.คลัง-ธปท.เดินสายไข้ข้อข้องใจผู้ฝาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - สถาบันคุ้มครองเงินฝาก จับมือกระทรวงการคลัง และ ธปท.เดินสายไข้ข้อข้องใจผู้ฝาก จัดสัมมนา “การคุ้มครองเงินฝากและการกำกับดูแลสถาบันการเงิน” ณ โรงแรมเดอะไทด์ รีสอร์ท จังหวัดชลบุรี

วันนี้ (7 ก.ค.) สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ร่วมกับกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดประชุมสัมมนา เรื่อง “การคุ้มครองเงินฝากและการกำกับดูแลสถาบันการเงิน” ณ โรงแรมเดอะไทด์ รีสอร์ท จังหวัดชลบุรี เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน และผู้ประกอบการรายย่อย ในการกำกับดูแลและความมั่นคงของสถาบันการเงิน และเรื่องการคุ้มครองเงินฝากโดยเฉพาะการทยอยลดวงเงินคุ้มครองเป็น 50 ล้านบาท ในวันที่ 11 สิงหาคม 2554 และเป็น 1 ล้านบาท ในวันที่ 11 สิงหาคม 2555

นายสรสิทธิ์ สุนทรเกศ ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท.ในฐานะวิทยากร กล่าวถึงการกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงินนั้น มีด้วยกัน 3 แบบ ได้แก่ การกำกับดูแลแบบต่อเนื่อง การกำกับดูแลแบบรวมกลุ่ม และแบบ Risk-Based Supervision ทั้งนี้ ในส่วนของการพิจารณาความมั่นคงของสถาบันการเงินนั้น สามารถดูได้จากตัวชี้วัดหลักที่ใช้พิจารณาความมั่นคงของสถาบันการเงิน ได้แก่ ฐานะและผลการดำเนินงาน ฐานะเงินกองทุน คุณภาพสินทรัพย์ สภาพคล่อง และอันดับความน่าเชื่อถือ

นอกจากนี้ยังได้มีประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับการรับเงินฝาก เพื่อกำหนดให้ถือปฏิบัติเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ในการประกาศอัตราดอกเบี้ยสำหรับเงินฝากแต่ละประเภท รวมถึงการระบุเงื่อนไขอื่นๆ ที่สำคัญ เช่น รายละเอียดการประกันเงินต้น และดอกเบี้ยจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากของผลิตภัณฑ์ทางการเงินแต่ละประเภท

นายสิงหะ นิกรพันธุ์ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ในฐานะวิทยากรอีกท่าน ระบุว่าในอนาคตอันใกล้จะลดวงเงินการคุ้มครองลงเหลือสถาบันการเงินละ 50 ล้านบาท ในเดือนสิงหาคมปีนี้ และในปีหน้าจะมีการลดวงเงินคุ้มครองลงเหลือ 1 ล้านบาท จึงอยากจะให้ประชาชนเตรียมตัวให้พร้อมกับสภาพแวดล้อมใหม่ หากเกิดมีสถาบันการเงินเสียหายขึ้นมาจะต้องทำอย่างไร เพื่อจะให้ได้รับการชดเชยจากภาครัฐ และจากสถาบันคุ้มครองเงินฝาก

ระบบการคุ้มครองเงินฝากแนวใหม่ที่เป็นมาตรฐานสากลนั้น รัฐจะให้ความคุ้มครองในขีดจำกัดเพื่อให้ประชาชนใช้บริการสถาบันการเงินอย่างระมัดระวังและสถาบันการเงินเองต้องมีส่วนในการบริหารจัดการโดยทำให้ประชาชนได้มีวิจารณญาณในจะช่วยบริหารการทำให้เกิดวินัยด้านการเงินเกิดขึ้น

โดยเป้าหมายของการคุ้มครองรัฐมุ่งไปที่ประชาชนรายย่อย ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของประเทศที่มีเงินฝาก 1 ล้านบาท โดยได้รับความคุ้มครองถึง 98.5% ของบัญชีเงินฝากในระบบทั้งหมด ถ้าหากเกิดความเสียหายขึ้นจริง การคุ้มครองที่ให้ 1 ล้านบาท เสมือนหนึ่งว่าเป็น 7 เท่าของรายได้ประชาชาติต่อหัวคนไทย หมายความว่าพอเราได้ 1 ล้านบาทเท่ากับว่าเราได้ 7 เท่าของรายได้ที่เราจะหาได้ทั้งปีโดยเฉลี่ย ซึ่งพบว่าคนที่ฝากเงินกับสถาบันการเงินหนึ่งๆ เกินกว่า 1 ล้านบาท นั้นมีแค่ 1.5% เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ทางสถาบันการเงินติดตราสัญลักษณ์ โดยมีข้อความว่า “สถาบันการเงินแห่งนี้ได้รับความคุ้มครอง” ณ ที่ทำการของสถาบันการเงินอย่างเปิดเผยแล้ว ในอนาคตอันใกล้ สคฝ.จะขอความร่วมมือให้สถาบันการเงินติดตราสัญลักษณ์พร้อมทั้งข้อความนี้ในตัวผลิตภัณฑ์ เช่น ในสมุดคู่ฝากจะมีตราสัญลักษณ์ หรือเอกสารการเปิดบัญชีต้องมีตราสัญลักษณ์ เพราะตอนนี้ความสับสนเกิดขึ้นค่อนข้างมาก เนื่องจากมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ธนาคารจำหน่าย เช่น หน่วยลงทุนจะไม่มีข้อความดังกล่าวปรากฏอยู่

นายสิงหะกล่าวต่อไปว่า ปัจจุบัน สคฝ.มีสถาบันการเงินที่ได้รับความคุ้มครอง 38 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารพาณิชย์ไทย 17 ธนาคาร ธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศอีก 15 ธนาคาร บริษัทไฟแนนซ์ 3 บริษัท และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์อีก 3 บริษัท ซึ่งทุกสถาบันได้รับการคุ้มครอง 1 ล้านบาทเท่ากัน สมมติถ้าประชาชนมีเงินฝาก 38 ล้านบาทกระจายทุกสถาบันการเงินทั้งหมด กรณีนี้จะได้รับความคุ้มครองจากรัฐทั้งหมด


กำลังโหลดความคิดเห็น