ตาก- นายอำเภอแม่สอด ลงพื้นที่ สารปนเปื้อนแคดเมียมลุ่มน้ำแม่ตาว เขตปัญหาเรื้อรัง ขณะที่แผนส่งเสริมเกษตรกรหันปลูกอ้อยแทนข้าว หนีปัญหาปนเปื้อนกลายเป็นปัญหาซ้ำ ทั้งไม่คุ้มทุน-พื้นที่ไม่เหมาะสม
วันนี้ (21 มิ.ย.) นายปรีชา ใจเพชร นายอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ได้เดินทางลงพื้นที่ตรวจสอบปัญหาสารแคดเมียมปนเปื้อนนาข้าว พื้นที่ลุ่มน้ำแม่ตาว ในเขตตำบลแม่กุ-แม่ตาว และ ต.พระธาตุผาแดง อ.แม่สอด จำนวน 12 หมู่บ้าน ภายหลังเข้ามารับตำแหน่งได้เดือนเศษ และได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านในพื้นที่ให้เร่งเข้าไปดำเนินการตรวจสอบและหาแนวทางแก้ไขปัญหาแคดเมียมปนเปื้อน อย่างเบ็ดเสร็จ เพราะเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อเรื้อรังและยังไม่สามารถสรุปได้
นายอำเภอแม่สอด กล่าวว่า หลังจากเข้ามาทำงาน และได้รับการร้องเรียนจากประชาชนตนเองก็ได้ติดตามปัญหาสารปนเปื้อนแคดเมียมในลุ่มน้ำแม่ตาว ทั้ง 3 ตำบล ซึ่งชัดเจนว่า ชาวบ้านได้รับผลกระทบ และได้รับความเดือดร้อนจริงๆ และก่อนหน้านี้ ผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ได้ลงไปพื้นที่พบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ได้รับผลกระทบ
ทั้งนี้ มีข้อสรุป 2 ประเด็น คือ เรื่องพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ กระทรวงทรัพย์ ได้ตรวจสอบวิเคราะห์วิจัยออกมาพอทราบมาว่า ได้แบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนที่ไม่สามารถทำการเกษตรได้ หรือพื้นที่สีแดง ซึ่งเป็นพื้นที่มีสารแคดเมียมปนเปื้อนสูง ส่วนพื้นที่ที่ 2 เป็นพื้นที่สีเหลือง หรือ ปนเปื้อนสารแคดเมียมต่ำ แต่ยังพอทำการเกษตรได้ และพื้นที่สีเขียว ที่ไม่มีสารปนเปื้อนแคดเมียมเลย
นอภ.แม่สอด บอกอีกว่า เราต้องวิเคราะห์พื้นที่ปนเปื้อนทั้งหมด ว่า สามารถทำอะไรได้ โดยเฉพาะการคัดพื้นที่สีแดง และสีเหลือง และเราจะต้องมาคุยกันว่า จะดำเนินการต่อไปอย่างไรดี เพื่อที่จะให้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบหันมาปลูกพลังงานทดแทน (อ้อย)
แต่โดยข้อเท็จจริงของสภาพพื้นที่แล้ว เราจะเห็นว่า สภาพพื้นที่การปลูกอ้อยที่เหมาะสมนั้นต้องเป็นพื้นที่สูง แต่ปัจจุบันพื้นที่ปลูกอ้อยส่วนมากเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำ การเอาพื้นที่ทำนาไปปลูกอ้อยจึงไม่คุ้มค่ากับการลงทุน
นอกจากนี้ ถ้าพื้นที่ปลูกอ้อยน้อยกว่า 20 ไร่ ก็ทำไร่อ้อยไม่คุ้ม และการปลูกอ้อยนั้นต้นทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งจะต้องคุยกันว่าจะดำเนินการอย่างไรกับชาวบ้านที่มีปัญหาดังกล่าว