xs
xsm
sm
md
lg

ชาว “จรัลแลนด์” เกือบ 100 หลังคาเรือน เดือดร้อนหนัก น้ำท่วมนาน 10 ปี หนีปล่อยเป็นหมู่บ้านร้าง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - ผู้พักอาศัยในหมู่บ้านจรัลแลนด์ ระทมทุกข์ น้ำท่วมหมู่บ้านนาน 10 ปี เจ้าของหมู่บ้านขายหมดโครงการไม่ไยดีทอดทิ้งไม่ยอมแก้ไขปัญหา ระบุ สร้างหมู่บ้านในแอ่งกระทะ ขวางทางน้ำไหล ไม่มีระบบระบายน้ำ ต้องโอนถนนให้เป็นสาธารณะใช้งบประมาณฉุกเฉินองค์การบริหารส่วนตำบลนาจอมเทียน เกือบ 4 ล้านบาท แก้ไขก่อนเป็นหมู่บ้านร้าง

วันนี้ (16 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวได้รับการร้องทุกข์จาก นายเสกสิทธิ์ ไตรยสิทธิ์ อายุ 41 ปี อยู่บ้านเลขที่ 90/44 หมู่ที่ 5 หมู่บ้านจรัลแลนด์ ต.นาจอมเทียน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรีว่า ขณะเป็นช่วงฤดูฝน มีฝนตกหนักเป็นประจำ ประชาชนที่พักอาศัยอยู่ในหมู่บ้านเดือดร้อนหนัก ฝนตก น้ำท่วมขังมานานติดต่อกันประมาณ 10 ปีไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาดูแลแก้ไข จนขณะนี้ผู้ที่ซื้อบ้านในโครงการนี้ได้ย้ายถิ่นฐานไปพักอาศัยที่อื่น จนเกือบจะเป็นหมู่บ้านร้างไปแล้ว

ต่อมาผู้สื่อข่าวได้รุดไปตรวจสอบ พบว่าบนถนนเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างบ้านหนองจับเต่า กับ สวนนงนุชพัทยา แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของประเทศไทย และเป็นเส้นทางที่รถทัวร์ นักท่องเที่ยวใช้ในการสัญจรไป-มา อีกด้วย ภายในหมู่บ้านเป็นบ้านชั้นเดียว ประมาณ 80 หลัง

ส่วนถนนทุกสายภายในหมู่บ้านมีน้ำท่วมขังทุกสาย และพบว่าทางเข้าถนนหน้าหมู่บ้านมีกองดินผสมดินดานถมสูง เฉอะแฉะ จนไม่สามารถใช้งานได้ ที่สำคัญภายในหมู่บ้านเหมือนบ้านร้าง มีประชาชนพักอาศัยประมาณ 10 หลัง ซึ่งส่วนมากล้วนแล้วเป็นกรรมกรที่มาเช่าบ้านอาศัยในราคาถูก ส่วนเจ้าของบ้านแท้จริงได้อพยพย้ายถิ่นฐานไปเช่าบ้านอยู่ที่อื่นเกือบหมด

ได้สอบถาม นายศรชัย ทองยั่งยืน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาจอมเทียน ทราบว่าหมู่บ้านจรัลแลนด์ มีบ้านทั้งหมดประมาณ 80 หลัง หลังจากที่เจ้าของหมู่บ้านขายโครงการหมดแล้วก็ไม่ได้ให้ความสนใจในความเดือดร้อนของผู้ซื้อ การสร้างหมู่บ้านไม่มีระบบท่อระบายน้ำ เพราะสถานที่แห่งนี้เป็นแอ่งกระทะและเส้นทางน้ำไหลธรรมชาติดั้งเดิม เมื่อมีฝนตกลงมาก็จะท่วมขังมานานติดต่อกับประมาณ 10 ปี องค์การบริหารส่วนตำบลไม่สามารถเข้าไปดำเนินการได้เพราะยังเป็นที่ดินส่วนบุคคล จนที่สุดผู้พักอาศัยในหมู่บ้านได้โยกย้ายถิ่นฐานไปเกือบหมด เหลือประมาณ 10 หลัง เท่านั้นที่ยังไม่มีที่อยู่อาศัยใหม่ ระทมทุกข์อยู่ในขณะนี้

และกล่าวอีกว่า ถ้าปล่อยให้หมู่บ้านแห่งนี้เป็นหมู่บ้านร้างก็คงเสียประโยชน์ในการบริหารท้องถิ่น จึงได้ให้เจ้าของที่ดิน และหมู่บ้านดำเนินการมอบที่ดินที่เป็นถนนให้เป็นสาธารณประโยชน์ จึงได้ดำเนินการผลักดันงบประมาณฉุกเฉิน จำนวน 3 ล้าน 8 แสนบาท เข้ามาจ้างบริษัทเอกชนดำเนินการแก้ไขปัญหา ด้วยการทำถนนใหม่ ขุดวางท่อระบายน้ำ จากหมู่บ้านไปลงแม่น้ำ

แต่เนื่องจากขณะนี้มีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่องทำให้การทำงานไม่สะดวก จนกลายเป็นความเดือดร้อนของประชาชนมากขึ้นอีก คาดว่า อีกไม่นานจะสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ ไม่ปล่อยให้เป็นหมู่บ้านร้าง ประชาชนจะได้ย้ายกลับคืนถิ่นเดิมกันอย่างแน่นอน

กำลังโหลดความคิดเห็น