รายงาน
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่
“นายศิริโชค โสภา” อดีต ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ผู้ใช้เวลาไม่นานก็สามารถสร้างชื่อเสียงฉาวฉานจนเป็นที่รู้จักของผู้คนไปทั่วประเทศ ผู้ได้รับฉายาว่าเป็นวอลเปเปอร์ทางการเมืองคู่บุญบารมีของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่รักษาการนายกรัฐมนตรีอยู่ในเวลานี้ เขาคือผู้ครองตำแหน่ง ส.ส.ในสนามเลือกตั้งที่เขต 7 จ.สงขลา
ก่อนการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นครั้งนี้ ดูเขาจะกระหยิ่มยิ้มย่องอย่างสุดๆ ที่สามารถดิ้นรนผลักดันให้ กกต.สงขลา คงการแบ่งพื้นที่ในเขต 7 จ.สงขลาไว้ได้ดังเดิม อันประกอบด้วยพื้นที่ อ.นาทวี อ.สะบ้าย้อย และ ต.สำนักแต้ว กับ ต.สำนักขาม ใน อ.สะเดา
ไม่เพียงเท่านั้น ระหว่างที่เสียงปี่กลองเริ่มประโคมโหมโรงศึกชิง ส.ส.เที่ยวนี้ หัวใจของนายศิริโชคที่กำลังแช่มชื่นก็ยิ่งสุดจะโสภาสถาพรเข้าไปอีก เมื่อปรากฏว่าบุคคลที่จะลงแข่งขันในเขต 7 จ.สงขลา ล้วนแล้วแต่มีชื่อชั้นที่ไม่น่าหวาดหวั่นอะไร
ทว่า พลันที่เกิดสถานการณ์พลิกผันเมื่อ “พรรคเพื่อไทย” มีมติในโค้งสุดท้ายให้ส่ง “นายอัศวิน สุวิทย์” ลงชิง ส.ส.ในสนามเลือกตั้ง เขต 7 จ.สงขลา รอยกระหยิ่มยิ้มย่องที่แย้มเบ่งบานอยู่บนใบหน้าของนายศิริโชคก็กลับมีอันต้องหุบลงทันควัน ความแช่มชื่นกลับมลายหายไป กลายเป็นความไม่โสภาเข้ามาแทนที่ในความรู้สึกนึกคิด
เนื่องเพราะนายอัศวินมิใช่ละอ่อนทางการเมือง ไม่ว่าจะในสนามระดับท้องถิ่นหรือระดับชาติ เขาคืออดีตรองนายก อบจ.สงขลา และเป็นพี่ชายร่วมสายเลือดของ “นายนาราชา สุวิทย์” อดีต ส.ส.เขต 8 สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ไม่เพียงเท่านั้นทั้ง 2 คนเป็นบุตรชายหัวแก้วหัวแหวนของ “พ.ต.ท.วิจิตร สุวิทย์” อดีต ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์หลายสมัย ซึ่งมีฐานคะแนนเสียงหลักอยู่ในพื้นที่ทั้งเขต 7 และเขต 8 ของ จ.สงขลานั่นเอง
จึงไม่น่าแปลกใจที่ภายหลัง กกต.สงขลาปิดรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างอื้ออึงจากคนในพื้นที่ว่า สนามแข่งขัน ส.ส.สงขลาที่มีอยู่ทั้งหมด 8 เขตเลือกตั้ง ต้องนับว่ามีแต่เขตเลือกตั้งที่ 7 จ.สงขลาเท่านั้นที่การศึกดูจะมีชีวิตชีวา สามารถที่จะสร้างสีสันแห่งการต่อสู้ช่วงชิงกันแบบมันหยด และถือเป็นมวยถูกคู่แบบช้างชนช้างระหว่างแชมป์เก่าคือ “พรรคประชาธิปัตย์” กับผู้หาญกล้าขึ้นท้าชิงอย่าง “พรรคเพื่อไทย”
สิ่งที่นายศิริโชคไม่น่าจะโสภาเอามากๆ ในศึกครั้งนี้ก็เนื่องจากคนในตระกูล “สุวิทย์” เคยเป็นอดีต ส.ส.ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์แบบผูกขาดพื้นที่นี้มาถึง 20 ปี นับตั้งแต่รุ่นพ่อคือ พ.ต.ท.วิจิตร และถูกส่งต่อถึงรุ่นลูกคือ นายนาราชา แต่ในการเลือกตั้ง ส.ส.เที่ยวนี้กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์กลับมีมติไม่ส่งนายนาราชาลงป้องกันตำแหน่งในเขต 8 จ.สงขลาดังเดิม โดยให้เหตุผลว่าสมัยที่เขาเป็น ส.ส.ขาดประชุมสภาฯบ่อย
แต่พรรคประชาธิปัตย์กลับมีมติส่ง “พ.ต.อ.สุรินทร์ ปาลาเร่” อดีต ผกก.ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง จ.สงขลา และอดีตผู้เคยสมัครทั้ง ส.ส.และ ส.ว.สงขลามาก่อน ให้ลงสมัครแทนนายนาราชาในเขต 8 จ.สงขลา ทำให้คนในตระกูลสุวิทย์เป็นเดือดเป็นแค้นในเรื่องนี้มาก ถึงขั้นเคยถามไปยังผู้บริหารพรรคประชาธิปัตย์ว่า ตระกูลสุวิทย์ทำผิดอะไรจึงไม่ให้ลงรับสมัคร ส.ส.หนนี้
ด้วยความเป็นเดือดเป็นแค้นนี่เองที่ทำให้ในสนามเลือกตั้ง ส.ส.เที่ยวนี้ พ.ต.ท.วิจิตรตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วที่จะส่งนายอัศวินลูกชายอีกคนที่เป็นถึงอดีต รองนายก อบจ.ลงสมัคร ส.ส.ในนามพรรคเพื่อไทย เพื่อช่วงชิงตำแหน่งจากนายศิริโชคในเขตเลือกตั้งที่ 7 ซึ่งก็ไม่ใช่เขตเลือกตั้งที่ 8 ของ จ.สงขลา เพราะพรรคเพื่อไทยถือเป็นคู่กัดหลักของพรรคประชาธิปัตย์ และต้องการสั่งสอนด้วยการท้าประลองกับคนใกล้ชิดที่สุดของนายอภิสิทธิ์โดยตรงนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม อาจจะมองได้ว่าการที่ตระกูลสุวิทย์ไม่เลือกนายนาราชาลงป้องกันตำแหน่ง ส.ส.ครั้งนี้ เพราะภาพของเขามีตำหนิที่จะเป็นช่องโหว่ให้พรรคประชาธิปัตย์สามารถหยิบยกมาโจมตีได้ โดยเฉพาะประเด็นการทอดทิ้งงานในสภาฯบ่อยครั้ง รวมทั้งภาพของนายอัศวินผู้เป็นน้องชายในเวลานี้มีความโดดเด่นมากกว่าพี่ชาย
อีกทั้งเหตุผลที่คนในตระกูลสุวิทย์เลือกที่จะส่งนายอัศวินลงท้าชนกับนายศิริโชคโดยตรงในเขต 7 จ.สงขลา แทนที่จะลงในเขต 8 จ.สงขลาที่นายนาราชาเคยเป็น ส.ส.อยู่ อาจเป็นเพราะไม่ต้องการต่อสู้แย่งชิงคะแนนเสียงของผู้นับถือศาสนาอิสลามด้วยกัน เนื่องจากตระกูล “ปาราเร่” ก็ถือเป็นตระกูลมุสลิมใหญ่ในพื้นที่ และเขต 8 จ.สงขลา พ.ต.อ.สุรินทร์ทำงานการเมืองมาหลายปี จึงมีฐานเสียงอยู่หนาแน่น เมื่อบวกกับฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ที่มีอยู่ จึงยากที่จะทำให้นายอัศวินเบียดแทรกเพื่อแย่งคะแนนเสียงเข้าสู่เส้นชัยแห่งการเป็น ส.ส.ได้
นอกจากนี้ การที่นายอัศวินเลี่ยงไปลงสมัครที่เขต 7 จ.สงขลา พร้อมๆ กับพกพาความคิดว่าจะสามารถโค่นนายศิริโชคลงได้ไปด้วยนั้น สิ่งนี้มาจากฐานความเชื่อที่ว่าพื้นที่เขต 7 จ.สงขลามีประชาชนที่เป็นมุสลิมจำนวนมาก ขณะที่นายศิริโชคเป็นไทยพุทธและพื้นเพไม่ใช่คนในท้องถิ่น ดังนั้นเมื่อบวกกับฐานเสียงส่วนตัวและฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยที่มีอยู่ก่อน นายอัศวินก็น่าจะได้คะแนนเป็นกอบเป็นกำจนอาจจะช่วงชิงตำแหน่ง ส.ส.มาได้
รวมทั้งยังมีความเชื่อที่ว่า นายศิริโชคผู้เป็นเจ้าของพื้นที่เขต 7 จ.สงขลาเองก็ไม่ค่อยได้ลงพื้นที่เท่าไหร่ มัวแต่ไปเล่นบทวอลเปเปอร์ของนายอภิสิทธิ์เสียมากกว่า และตั้งแต่เป็น ส.ส.ที่ผ่านมาก็ไม่ปรากฏว่ามีผลงานโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ต่อคนในท้องถิ่นเลย
อย่างไรก็ตาม แม้นายศิริโชคจะเชื่อมั่นตนเองว่ามีฐานคะแนนที่เหนียวแน่นใน อ.นาทวี รวมทั้งประชาชนส่วนใหญ่ในเขตเลือกตั้งที่ 7 จ.สงขลาผูกพันกับพรรคประชาธิปัตย์มากกว่าตัวบุคคล ซึ่งแม้ตัวเองจะไม่ค่อยได้ลงพื้นที่ แต่ก็มีทีมทำงานมวลชนที่เข้มแข็งในพื้นที่มาโดยตลอด แต่ในเวลานี้สถานการณ์ต่างๆ แปรเปลี่ยนไปมากแล้ว
ต้องไม่ลืมว่าในช่วง 6-7 ปีมานี้ “การเมืองภาคประชาชน” ได้รับการฟูมฟักให้เติบใหญ่จนกลายเป็นอีกหนึ่งพลังที่ผลักดันการขับเคลื่อนประเทศชาติอย่างสำคัญยิ่ง โดยเฉพาะการเกิดขึ้นและดำรงอยู่ของกลุ่ม “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ที่มีเครือข่ายครอบคลุมอยู่ในทุกซอกมุมของประเทศ รวมถึงชาวไทยที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศทั่วทุกมุมโลกด้วย
อีกทั้งเป็นที่รับรู้กันด้วยว่า ในส่วนของภาคใต้ต้องถือเป็นพื้นที่ที่เป็นกำลังหลักของกลุ่มพันธมิตรฯด้วย และไม่เพียงเท่านั้น จ.สงขลา ยังถือเป็นหนึ่งในหัวเมืองหลักของกลุ่มพันธมิตรฯในแผ่นดินด้ามขวาน และเคยเป็นที่กล่าวขานกันว่า จ.สงขลาเป็นเสมือน “เมืองหลวงของพันธมิตรฯในภาคใต้” เลยก็ว่าได้
ในเวลานี้กลุ่มพันธมิตรฯที่มีการแตกแยกย่อยเข้าสู่กลุ่มคนในทุกเพศ ทุกวัย ทุกพื้นที่และทุกระดับ รวมถึงมีการผนึกรวมเครือข่ายเพื่อนมิตรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายสันติอโศก กองทัพธรรม กลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติ และโดยเฉพาะ “พรรคเพื่อฟ้าดิน” ที่ส่งผู้สมัคร ส.ส.ในสนามเลือกตั้งหนนี้ด้วย
ทั้งหมดทั้งปวงของเครือข่ายกลุ่มพันธมิตรฯ กำลังร่วมมือร่วมใจกันเชิญชวนพี่น้องประชาชนคนไทยทั่วประเทศและทั่วทุกมุมโลกเข้าร่วม “มหกรรมโหวตโน” หรือเดินเข้าคูหา “กาไม่ประสงค์เลือกใคร” กันอย่างขยันขันแข็ง นอกจากกิจกรรมการร่วมชุมนุมกันที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ในกรุงเทพฯอันเป็นศูนย์รวมแล้ว ยังมีการกระจายกิจกรรมสร้างสีสันไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศอีกด้วย
เมื่อนำความเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ ไปประกบรวมกับการรณรงค์หาเสียงของตระกูลสุวิทย์ในเขต 7 จ.สงขลา ที่ได้ฉายภาพรวมให้เห็นความล้มเหลวในการบริหารประเทศของพรรคประชาธิปัตย์ และหยิบเอาความเหลวแหลกของตัวบุคคล รวมถึงกลุ่มก๊วนนักการเมืองในพื้นที่ที่มีทั้งการเปิดบ่อน ค้าน้ำมันเถื่อน เป็นต้น
สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนทำให้สนามเลือกตั้ง ส.ส.ในเขต 7 จ.สงขลาเป็นที่น่าจับตามองไม่น้อย โดยเฉพาะเจ้าของตำแหน่งเดิมคือ “นายศิริโชค โสภา” ที่ ณ เวลานี้มีคนเรียกขานเขาในชื่อใหม่ว่า “นายศิริโชค” ที่ไม่ค่อยจะน่า “โสภา” เท่าไหร่แล้ว !!