พะเยา - พบภาพเขียนสีฝุ่นโบราณ อายุ 838 ปี วัดหลวงราชสัณฐาน (วัดขี้เหล็ก) เสียหายหนัก แถมมีการบูรณะซ่อมแซมผิดแบบเดิม วอนหน่วยเกี่ยวข้องช่วยรักษาดูแลเร่งด่วน หวังเป็นแหล่งศึกษาให้คนรุ่นหลัง พร้อมดึงดูดคนเข้าเที่ยวเพิ่ม
วันนี้ (30 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวได้เข้าไปติดตามตรวจสอบพระวิหารวัดหลวงราชสัณฐาน(หรือชาวบ้านเรียกว่า วัดหลวงใน เลขที่ 954/4 ถนนพหลโยธิน ต.เวียง อ.เมือง จ.พะเยา เนื้อที่ 7 ไร่ 1 งาน ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองพะเยา หลังจากที่ได้มีชาวบ้านมีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่า เป็นวิหารเก่าแก่ คู่กับวัด ซึ่งเป็นศิลปะแบบล้านนา ที่ทางกรมศิลปากร ประกาศขึ้นทะเบียนไว้เมื่อ 8 มีนาคม พ.ศ.2478 ที่กำลังทรุดโทรมลงอย่างหนัก อีกทั้งการบูรณะซ่อมแซม ก็ผิดไปจากแบบเดิม
นายเกรียงศักดิ์ ชัยดรุณ นักวิชาการท้องถิ่น ด้านโบราณคดี และจารึกอักษร จ.พะเยา กล่าวว่า ตามที่ได้ศึกษาเรื่องโบราณคดี และหลักศิลาจารึก ที่จารึกบนแผ่นหินทรายของจังหวัดพะเยาที่ค้นพบ ทราบว่าวัดหลวงราชสัณฐานนั้น เป็นวัดเก่าแห่งหนึ่งที่มีความสำคัญ บ่งบอกถึงอดีตกาล การใช้ชีวิต และการดำรงชีพ ภาพเขียนสีฝุ่นผสมกาวไม้ ที่ได้บอกเล่าเป็นรูปภาพต่าง ๆ ที่ติดตามฝาผนังของวัดแห่งนี้ ปัจจุบันพบว่า ได้ชำรุดเสียหายและน่าเสียดายอย่างมาก เพราะในปัจจุบันหาดูได้ยาก ไม่ค่อยพบที่ไหน
โดยภาพเขียนในวัดดังกล่าว ได้บ่งบอกถึงวิถีชีวิตของคนเมืองพะเยาในอดีตตลอดจนถึงเรื่องเทศก์มหาชาติ เรื่องพุทธประวัติ และภาพอื่น ที่มีที่เกี่ยวข้องกับชาวเมืองพะเยาในอดีต หากไม่ได้รับการดูแลรักษา อาจถูกทำลายไปด้วยกาลเวลาอย่างแน่นอน ซึ่งขณะนี้พบบางส่วนได้เลือนหายไปหลายภาพ
นายเกรียงศักดิ์ ย้ำว่า ภาพเขียนฝาผนังทั้งหมดในวัด ถือเป็นสมบัติชิ้นสำคัญอย่างหนึ่งของชาติ ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ ขณะที่วิหารวัด ที่ภายในมีจิตกรรมฝาผนัง และโบราณวัตถุอยู่ข้างใน ก็ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนรูปแบบไป ซึ่งแต่เดิม รูปทรงคล้ายศิลปะท้องถิ่นพื้นบ้านล้านนา โดยมีการใช้ไม้แกะสลัก ประกบติดทั้งด้านนอกและด้านในวิหาร แต่มีบางส่วนได้ใช้ปูนซีเมนต์ โบกขึ้นรูปแทนไม้ จนผิดไปจากรูปแบบเดิมของช่างพื้นบ้านล้านนา แต่โชคดี ที่ได้มีการเก็บรูปแบบเค้าโครงสภาพเดิมไว้ก่อนแล้ว
“ที่จริงแล้วหากมีการอนุรักษ์ โบราณสถาน และโบราณวัตถุทั้งหมดไว้คงรูปเดิมโดยมิได้เปลี่ยนแปลง เชื่อว่าวัดแห่งนี้จะมีผู้คนเข้ามาเที่ยวดูชมเป็นจำนวนมาก”
ทางด้าน พระทวีศักดิ์ จันทวังโส รองเจ้าอาวาสวัดหลวงราชสัณฐาน กล่าวว่า วัดหลวงราชสัณฐาน เมื่อ พ.ศ.1716 ชื่อว่าวัดขี้เหล็ก ต่อมาได้มีการเปลี่ยนมาใช้ชื่อวัดหลวงราชสันฐาน และเมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2478 วัดได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน จากกรมศิลปากร โดยขณะนี้ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลโบราณสถานโบราณวัตถุทั้งหมดด้วย เพราะภาพจิตกรรมฝาผนัง ทั้งหมด 24 รูปภาพ ที่บ่งบอกถึงเรื่องราวต่าง ๆ ในอดีตกาล ได้ลบเลือนสูญเสียหายไปไม่เหลือร่องรอยถึง 5 ภาพ หากไม่มีหน่วยงานใดหรือผู้เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลรักษาอนุรักษ์ไว้ เชื่อว่าในอนาคตคงจะเสียหายหมดอย่างแน่นอน
โดยภายนอกและภายใน พบว่า มีบางส่วนเสียหายเพราะถูกแดด และฝนมานานหลายปีทำให้ภาพชำรุดสูญหาย หากมีการบำรุงรักษาซ่อมแซม ไว้วัดแห่งนี้จะดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติมาเที่ยวชมได้เป็นจำนวนมาก เพราะว่าวัดตั้งอยู่ตรงใจกลางเมืองพะเยา และมีอายุถึงมากถึง 838 ปี
ชาวเมืองพะเยา มองว่า วัดแห่งนี้ควรค่าแก่การอนุรักษ์หรือทำลาย เพราะปัจจุบัน บริเวณวัด ซึ่งแต่เดิมมีบริเวณกว้างขวาง แต่ปัจจุบันมีการก่อสร้างหอระฆังวัดตั้งตรงกลาง บดบังทัศนีย์ภาพวิหาร และเจดีย์โบราณของวัดอย่างเห็นได้ชัด จนชาวบ้านร้องขอมาถึงงานราชการหรือผู้เกี่ยวข้องเข้ามาดูแล เพื่อเข้ามาจัดการควบคุมอนุรักษ์โบราณสถาน-โบราณวัตถุ และพื้นที่ของวัดอย่างเป็นระบบ
อนึ่ง วัดดังกล่าว หลังกรมศิลปากร ได้ขึ้นทะเบียนไว้เมื่อปี 2478 ต่อมาได้มีการบูรณะซ่อมแซมปรับปรุงพระวิหารและภาพจิตกรรมฝาผนัง เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2527 กลับมีการใช้ปูนซีเมนต์ซ่อมแซมและปั้นขึ้นรูปจนผิดจากรูปเดิมไปเกือบหมด จนคณะศรัทธาและชาวเมืองพะเยามีความต้องการให้หน่วยงานหรือผู้เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลแก้ไขปรับปรุงซ่อมแซมพระวิหารที่ชำรุดและภาพจิตกรรมฝาผนังที่เสียหาย ให้กลับคืนสู่สภาพเดิม เพื่ออนุรักษ์ไว้ให้อนุชนคนรุ่นหลังได้ศึกษา เพราะถือว่าวัดแห่งนี้เป็นวัดหนึ่งที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับเมืองพยาว หรือ จ.พะเยา