เชียงราย - กรมทางหลวง เปิดห้องรับฟังความคิดเห็น ก่อนเดินเครื่องตัดถนนสาย ชร.4049 เชื่อมท่าเรือเชียงแสน 2 ที่จะแล้วเสร็จปลายปีนี้
วันนี้ (20 พ.ค.54) ที่ห้องเชียงรุ้ง โรงแรมเวียงอินทร์ อ.เมือง จ.เชียงราย กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม และบริษัทพรีดีเวลลอปเมนท์ คอนซัลแตนท์ จำกัด ได้จัดประชุมกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนครั้งที่ 3 โครงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมถนนสาย ชร.4049 โดยมีนายสมชัย หทยะตันติ ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย เป็นประธาน และนายเอนก นัฐโฆษิก ผู้อำนวยการสำนักงานทางหลวงชนบทนำคณะฝ่ายที่เกี่ยวข้องชี้แจงโครงการ รวมทั้งมีหัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำชุมชน และภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องกับโครงการเข้าร่วม
นายสมชัย กล่าวว่า ทุกโครงการย่อมมีทั้งผลดีและผลกระทบกรณีการก่อสร้างถนนก็เช่นกัน ดังนั้นทุกฝ่ายต้องระดมสมองเพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด เนื่องจากปัจจุบัน จ.เชียงราย มีความจำเป็นต้องมีการก่อสร้างถนนเพื่อเพิ่มเติมโครงข่ายคมนาคม เพราะสภาพถนนหลายสายเริ่มมีความแออัด โดยเฉพาะช่วงชั่วโมงเร่งด่วน
ขณะที่ระบบสาธารณูปโภคบางอย่างถึงเวลาที่ต้องพัฒนา เช่น ล่าสุดตนเดินทางไปยังท่าเรือแม่น้ำโขง อ.เชียงของ พบรถบรรทุกพลิกคว่ำที่ท้ายท่าเรือทำให้รถติดกันหมด สาเหตุเพราะเรามีท่าเรือสำหรับคนและรถบรรทุกเข้าออกในที่เดียวกัน แตกต่างจากประเทศอื่นที่แยกท่าเรือคนและสินค้า เป็นต้น
กรณีถนนสาย ชร.4049 จึงมีความสำคัญเพราะเชื่อมระหว่าง อ.ดอยหลวง-เมือง ไปยังถนนสายเชียงแสน-เชียงของ ใกล้กับท่าเรือแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 ซึ่งกำลังจะแออัดในอนาคตด้วย
ด้านนายเอนก กล่าวว่า ปัจจุบันกระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างก่อสร้างท่าเรือเชียงแสนแห่งที่ 2 ที่ปากแม่น้ำกก บ้านสบกก ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าจากท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือระนองกับประเทศลุ่มแม่น้ำโขงตอนบน โดยเฉพาะจีนตอนใต้
ดังนั้น กรมทางหลวงจึงสนับสนุนด้วยการสร้างถนนโครงข่าย โดยปี 2552 ได้สำรวจออกแบบรายละเอียดและศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมบนถนนสายนี้ พบว่าเดิมเป็นถนนลาดยาง 2 ช่องจราจร กว้าง 6 เมตร ไหล่ทาง 1 เมตร สภาพปัจจุบันคับแคบจึงจำเป็นต้องสร้างถนนสายใหม่ ซึ่งต้องผ่านเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าสบกกฝั่งขวา พื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 2 ฯลฯ
ทั้งนี้ มีกำหนดระยะเวลาศึกษาโครงการ 300 วัน ตั้งแต่วันที่ 4 ต.ค.2553-30 ก.ค.2554 ระยะทาง 20.440 กิโลเมตร ซึ่งหลังศึกษาได้กำหนดลักษณะโครงการเอาไว้ 4 รูปแบบ คือ ช่วงต้นโครงการกำหนดให้จุดเริ่มต้นเป็น 4 ช่องจราจร เส้นทางทั่วไปให้เป็น 2 ช่องจราจร เส้นทางลาดชันเป็นลักษณะถนนทางไต่ลาดชัน และจุดสิ้นสุดโครงการเป็น 4 ช่องจราจร หลังการศึกษาเอกชนที่ปรึกษาจะได้นำเสนอต่อกรมทางหลวงและกระทรวงคมนาคมเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า สำหรับท่าเรือแม่น้ำโขงเชียงแสนแห่งที่ 2 ก่อสร้างโดยกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ด้วยงบประมาณ 1,546.4 ล้านบาท เนื้อที่ 402.3 ไร่พื้นที่หมู่บ้านสบกก ต.บ้านแซว เพื่อใช้ทดแทนท่าเรือแห่งเก่าในตัวเมืองประวัติศาสตร์เชียงแสนซึ่งไม่สามารถขยายตัวได้ ซึ่งท่าเรือใหม่จะรองรับเรือได้มากกว่าและมีสิ่งอำนวยความสะดวกรวมทั้งกว้างขวางกว่า โดยมีกำหนดแล้วเสร็จปลายปี 2554