xs
xsm
sm
md
lg

อบจ.อุบลฯนำร่อง 1 ตำบล 1 รถแบ็กโฮแก้แล้งทำนาได้ตลอดปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อุบลราชธานี - อบจ.อุบลราชธานี เปิดตัวโครงการ 1 ตำบล 1 รถแบ็กโฮแก้ภัยแล้งถาวร หนุนสร้างแหล่งเก็บน้ำใช้เพาะปลูก เพื่อสร้างรายได้ให้ชาวบ้านตลอดทั้งปี โดยให้ชุมชนเป็นผู้บริหารจัดการรถด้วยตนเอง

ที่บ้านอ่างหินสามัคคี ต.อ่างศิลา อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี นายพรชัย โควสุรัตน์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมฟังความเห็นตัวแทนจากชาวบ้านตำบลอ่างศิลา จำนวน 12 หมู่บ้าน จะให้รถแบ็กโฮขององค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งนำมาใช้ในโครงการ 1 ตำบล 1 รถแบ็กโฮ ช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งและสร้างอาชีพให้หมู่บ้านแต่ละแห่งอย่างไร

เบื้องต้นทั้ง 12 หมู่บ้าน เสนอให้มีการขุดลอกหนองน้ำ สระน้ำ รวมทั้งคลองที่มีอยู่แล้ว แต่ตื้นเขินให้สามารถกลับมาใช้เก็บกักน้ำไว้ทำเกษตรกรรมได้อีก

ส่วนหมู่บ้านที่ยังไม่มีสระน้ำ หรือเป็นทางน้ำผ่าน เสนอให้รถแบ็กโฮขุดสระน้ำให้ใหม่ รวมทั้งให้ทำฝายชะลอน้ำ เพื่อมีน้ำไว้ทำเกษตรกรรมเหมือนหมู่บ้านอื่นที่มีแหล่งเก็บน้ำของตัวเองแล้ว

นายพรชัย กล่าวว่า โครงการ 1 ตำบล 1 รถแบ็กโฮ เป็นการต่อยอดจากโครงการ 1 อำเภอ 1 รถแบ็กโฮที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดเริ่มทำตั้งแต่ปี 2549 และประสบผลสำเร็จ เพราะสามารถสนองความต้องการของราษฎรในพื้นที่ได้อย่างตรงจุด เนื่องจากการบริหารจัดการใช้รถแบ็กโฮและการใช้พื้นที่ ราษฎรจะพูดคุยทำประชาคม เพื่อเสนอความต้องการที่หมู่บ้านมีความต้องการ

ส่วนองค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นผู้สนับสนุนคือ ส่งรถแบ็กโฮและคนขับเข้าไปทำให้ตามความต้องตามที่ราษฎรแจ้งมา

สำหรับการทำโครงการนี้ จะทำให้เกิดการรวมน้ำในพื้นที่แต่ละตำบล ก่อนกระจายไปสู่พื้นที่ใช้เพาะปลูกของประชาชน ทำให้มั่นใจว่าอนาคตเมื่อโครงการทำการเชื่อมต่อระบบน้ำได้ครอบคลุมพื้นที่กว่า 200 ตำบลของจังหวัด จะสามารถบริหารจัดการน้ำกิน น้ำใช้ และน้ำทำเกษตรกรรม ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างถาวร และสนับสนุนให้ประชาชนในพื้นที่สามารถทำการเพาะปลูกพืชผลได้ตลอดทั้งปี ก็จะช่วยแก้ปัญหาความยากจนของคนชนบทของจังหวัดลงได้ด้วย

ด้าน นายรัศมี ทองทับ อายุ 47 ปี ราษฎรบ้านอ่างหินสามัคคี ต.อ่างศิลา กล่าวว่า เมื่อองค์การบริหารส่วนจังหวัดส่งรถมาขุดลอกหนองน้ำสาธารณะของชาวบ้านครั้งนี้ จะทำให้พื้นที่เพาะปลูกของชาวบ้านกว่า 1,800 ไร่ มีน้ำใช้ปลูกข้าวได้ปีละ 2 ครั้ง และไม่แน่ว่าเมื่อทั้งตำบลอ่างศิลาสามารถเชื่อมต่อระบบส่งน้ำเข้าหากันได้ทั้ง 12 หมู่บ้าน อาจสามารถทำนาได้ถึงปีละ 3 ครั้ง

“ผมจึงเห็นด้วยกับโครงการที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นเพียงผู้สนับสนุนเครื่องมือกล แต่ชาวบ้านที่เป็นเจ้าของพื้นที่เป็นผู้เสนอความต้องการ จึงไม่เหมือนกับโครงการอีสานเขียวเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน ซึ่งเข้ามาขุดสระโดยไม่ถามความจำเป็นและความต้องการของชาวบ้าน จึงประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงมาแล้ว”

สำหรับตำบลอ่างศิลามีประชากรรวมกันทั้งสิ้น 4,200 คน มีพื้นที่ใช้เพาะปลูกกว่า 2,300 ไร่

กำลังโหลดความคิดเห็น