พะเยา - สรุปสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 7 วันอันตราย มีผู้เสียชีวิตรวม 6 คน บาดเจ็บ 68 คน จากอุบัติเหตุ 61 ครั้ง ทะลุเป้าที่ตั้งไว้ ขณะที่ ผู้ว่าฯ สั่งนายอำเภอ รวมถึงท้องถิ่นเข้มงวดจุดตรวจชุมชนหลังพบละเลยการปฏิบัติหน้าที่
วันนี้ (18 เม.ย.) ที่ห้องประชุมชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดพะเยา นายพงษ์ศักดิ์ วังเสมอ ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา พร้อมด้วยคณะทำงานศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2554 จ.พะเยา ได้ประชุมเพื่อสรุปสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 7 วันอันตราย 11-17 เม.ย.54 พร้อมทั้งทำพิธีปิดศูนย์
โดย จ.พะเยา มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนทั้งสิ้น 6 คน บาดเจ็บ 68 คน จากอุบัติเหตุรวมทั้งสิ้น 61 ครั้ง เกินเป้าที่จังหวัดตั้งไว้ที่ต้องไม่เกินร้อยละ 5 จากปีที่ผ่านมา คือเสียชีวิตไม่เกิน 5 คน บาดเจ็บไม่เกิน 53 คน และอุบัติเหตุไม่เกิน 56 ครั้ง รวมมูลค่าความเสียหายคิดเป็นเงินกว่า 28 ล้านบาท
ซึ่งพื้นที่ อ.เมืองพะเยา เกิดอุบัติเหตุมากสุด 17 ครั้ง รองลงมา คือ อ.เชียงคำ และ อ.แม่ใจ อำเภอละ 11 ครั้ง อ.ปง 9 ครั้ง อ.จุน 7 ครั้ง อ.ดอกคำใต้ และ อ.ภูซาง อำเภอละ 3 ครั้ง ขณะที่ อ.เชียงม่วน อ.ภูกามยาวไม่เกิดอุบัติเหตุ โดยรถ จยย.ยังคงเป็นยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุมากสุดร้อยละ 87.3 รองลงมาคือ รถยนต์กระบะ ร้อยละ 7.94 และรถยนต์ตู้ร้อยละ1.57 และอื่นๆ อีก ร้อยละ 3.17 สาเหตุส่วนใหญ่คือเมาสุรา ขับรถเร็วเกินกำหนด ตัดหน้ากระชั้นชิด
ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา กล่าวว่า ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายได้ทำงานอย่างหนัก เพื่อลดจำนวนอุบัติเหตุ ผู้บาดเจ็บ และ ผู้เสียชีวิต ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ แต่ยอดอุบัติเหตุ ผู้บาดเจ็บ และผู้เสียชีวิต กลับเกินเป้าที่ตั้งไว้แต่ก็ถือว่าไม่มากจนเกินไป
ทั้งนี้ พบว่า อุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดขึ้นกลุ่มคนในตำบลมากถึงร้อยละ 78.38 ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของผู้แทนสื่อมวลชนในจังหวัด ที่ระบุว่า จุดตรวจจุดบริการประชาชนในท้องถิ่น หรือในตำบล หมู่บ้านไม่ปฏิบัติหน้าที่อย่างจริงจัง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ส่งผลให้การเกิดอุบัติเหตุในปีนี้เพิ่มมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาได้ ดังนั้นนายอำเภอทุกอำเภอและท้องถิ่น ต้องเข้มงวดกับเจ้าหน้าที่หรืออาสาสมัครที่ประจำจุดตรวจ จุดบริการประชาชนกว่า 800 จุดทั่วจังหวัดให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างจริงจังและต่อเนื่องด้วย
ด้าน นายฉลอง อัครชิโนเรศ นักวิชาการสาธารณสุขด้านส่งเสริมพัฒนา (ระดับเชี่ยวชาญ) สำนักงานสาธารณสุข จ.พะเยา กล่าวว่า การเกิดอุบัติเหตุส่วนหนึ่งมาการจากการเมาสุรา เพราะฉะนั้นการป้องกันโดยใช้บุคคลในครอบครัวเป็นผู้ตักเตือนห้ามปราม ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ได้ผลเนื่องจากเป็นบุคคลใกล้ตัวอาจได้ผลมากกว่าการทำประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อที่อาจไม่ได้รับสื่อที่ทางการประชาสัมพันธ์ออกไปอย่างทั่วถึง จึงไม่เกิดความตระหนักในภัยที่อาจจะเกิดขึ้น ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุเพิ่มมากขึ้น โดยตนเองเชื่อว่า วิธีนี้น่าจะเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ และอุบัติเหตุลงได้