xs
xsm
sm
md
lg

ชาวกรุงเก่าตะลึงพบพระพุทธรูปสมัยอยุธยาปากแดง 8 องค์ ที่วัดช้างใหญ่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พระนครศรีอยุธยา - พระและสามเณรวัดช้างใหญ่ พระนครศรีอยุธยา ช่วยกันทำความสะอาดองค์พระในโบสถ์เก่า ตะลึงพบพระพุทธรูปสมัยอยุธยาอายุกว่า 600 ปี ปากแดง 8 องค์

วันนี้ (6 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า ชาวบ้านและพระกำลังเดินทางไปดูพระพุทธรูปสมัยกรุงศรีอยุธยา อายุเก่าแก่ราว 600 ปี 8 องค์ที่ปากทาสีแดงชาด ภายในพระอุโบสถหลังเก่าที่วัดช้างใหญ่ ต.วัดตูม อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา จึงเดินทางไปตรวจสอบพบพระอุโบสถหลังเก่า หรือพระวิหารศักดิ์สิทธิ์สภาพทรุดโทรมที่ปลูกขวางตะวันอยู่บริเวณหน้าวัด

ภายในมีภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังเป็นที่ประดิษฐานของพระประธานหลวงพ่อโต เป็นเนื้อปูนปั้น ลงรักปิดทอง ปางมารวิชัย ศิลปะชาวมอญสร้างสมัยกรุงศรีอยุธยา มีอายุเก่าแก่ราว 600 ปีเป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์ชาวบ้านนับถือสักการะบูชาและบนบานสานกล่าวด้วยหัวหมู ไข่ต้ม และแผ่นทอง ถ้าประสบความสำเร็จมักจะนำมาแก้บน

บริเวณด้านหน้าพระประธานพบพระพุทธรูปพระบริวารด้านซ้ายจำนวน 4 องค์ ด้านขวา 4 องค์รวม 8 องค์ประดิษฐานอยู่บนแท่นสูงราว 50 ซม.เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยเนื้อปูนปั้นมีขนาดหน้าตัก 20 นิ้ว และ 29 นิ้ว ลักษณะของพระพุทธรูปบางองค์จะยิ้มเล็กน้อย บางองค์ยิ้มมากหรือชาวบ้านเรียกว่ายิ้มแฉ่งแต่ที่เหมือนกันหมดคือที่ปากจะทาสีแดงทั้ง 8 องค์

พระสมุห์สมจิตร์ สังฑุโฒ อายุ 53 ปี เจ้าอาวาสวัด บอกว่า มารับตำแหน่งเจ้าอาวาสได้ประมาณ 2 ปี วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่ญาติโยม มาทำบุญปิดทองไหว้พระหลวงพ่อโต เป็นประจำคาดว่าญาติโยมคงนำแผ่นทองไปปิดที่ปากพระบริวารทั้ง 8 องค์ด้วย จึงมองไม่เห็นสีแดง

จนกระทั่งพระ และสามเณร เข้าไปทำความสะอาดและปัดฝุ่นที่องค์พระเพราะใกล้วันสงกรานต์ จึงพบแผ่นทองหลุดออกจากปากและมีสีแดงจึงปัดดูพบว่ามีสีแดงทั้ง 8 องค์ พอชาวบ้านราบข่าวจึงเดินทางมาไหว้และดูตลอดทั้งวัน

เจ้าอาวาส บอกต่อว่า วัดนี้มีความเกี่ยวข้องกับชาวมอญที่มีความสามารถพิเศษในการเลี้ยงช้างฝึกถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในสมัยกรุงศรีอยุธยา ช้างที่สำคัญ คือ เจ้าพระยาไชยยานุภาพระวางสูงสุดที่เจ้าพระยาปราบหงสาวดี เป็นช้างพระที่นั่งสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และเจ้าพระยาปราไตรจักร เป็นช้างพระที่นั่งของสมเด็จพระเอกาทศรถ หัวหน้าชาวมอญได้รับแต่งตั้งเป็นจาตุรงคบาท ความคุมช้างศึก

ต่อมาได้เป็นทหารเอกแม่ทัพหน้าชนะศึกหลายครั้งคือ พระยาราชมนู ตำแหน่งสูงสุดที่เจ้าพระยาอัครเสนาบดีสมุหกลาโหม เพื่อเป็นอนุสรณ์ของชาวมอญและความสามารถของพระยาช้าง เมื่อร่วมแรงร่วมใจกันสร้างวัดไว้ในพระพุทธศาสนาจึงได้ให้นามว่า วัดช้างใหญ่

ศิลปะพระพุทธรูปของชาวมอญหรือพม่าจะนิยมทาปากสีแดงเป็นเอกลักษณ์ดังนั้นคาดว่าพระพุทธรูปทั้ง 8 องค์คงทาสีแดงมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา 600 กว่าปีมาแล้วแต่ปัจจุบันไม่ค่อยพบเห็นแล้ว



กำลังโหลดความคิดเห็น