xs
xsm
sm
md
lg

กลิ่นเหม็นสารฟีนอลบริษัท ไบเออร์ ยังโชยไม่หยุดล่าสุดขนย้ายเด็กและผู้ใหญ่ส่งรพ.กว่า 100 ราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ระยอง - กลิ่นเหม็นสารฟีนอลบริษัท ไบเออร์ ยังโชยไม่หยุดล่าสุดขนย้ายเด็กและผู้ใหญ่ส่งรพ.กว่า 100 ราย ผู้ว่าฯ ยื่นคำขาด 3 วันแก้ปัญหาต้องจบ

วันนี้( 1 เมษายน 2554 ) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีท่อส่งสารฟีนอลของบริษัท ไบเออร์(ประเทศไทย) จำกัด นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมืองระยอง รั่วไหลเข้าระบบน้ำทำให้เกิดกลิ่นเหม็น ชุมชนตากวน - อ่าวประดู่ เทศบาลเมืองมาบตาพุด ได้รับผลกระทบกลิ่นเหม็นจนแสบตา แสบคอ อาเจียน ต้องหามส่งรพ.กรุงเทพระยองกว่า 50 คนกลางดึกวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา และในวันเดียวกันนี้ยังต้องขนย้ายทั้งเด็กและผู้ใหญ่เพิ่มอีกกว่า 50 คน ส่งรพ.กรุงเทพระยอง ให้แพทย์ตรวจอาการ วันเดียวกันนายธวัชชัย เทอดเผ่าไทย ผวจ.ระยอง และคณะ เข้าตรวจสอบภายในบริษัท ไบเออร์(ประเทศไทย)จำกัด เพื่อหาสาเหตุสารฟีนอลรั่วไหล

นายธวัชชัย กล่าวว่า สาเหตุของการเกิดสารฟีนอลรั่วไหลในครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา เนื่องจากสารฟีนอลได้ปนเปื้อนไปกับท่อระบบไอน้ำในกระบวนการผลิตจากบริษัทไบเออร์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ส่งไปยังบริษัทโกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) ถ.ไอ 4 นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ทำให้เกิดกลิ่นเหม็นฟุ้งกระจายไปทั่วบริเวณและเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการปิดระบบท่อส่งไอน้ำทันที และนำเอาเครื่องกรองมาคัดแยกน้ำออกจากตัวสารฟีนอล และในช่วงเย็นวันที่ 31 มี.ค.ทางโรงงานได้นำน้ำที่คัดแยกเพื่อไปบำบัด

แต่ขณะขนถ่ายน้ำลงบ่อบำบัด ได้เกิดกลื่นเหม็นฟุ้งกระจายออกมาทั่วบริเวณ ประกอบกับลมได้พัดมาจากฝั่งทะเล เข้าไปในพื้นที่ชุมชนดังกล่าว ส่งผลให้ชาวประมงที่อยู่ใกล้เคียงได้รับกลิ่นเหม็นดังกล่าว ส่วนใหญ่มีอาการแสบจมูก แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ไอแสบจมูก ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ทางนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและโรงงานไบเออร์ได้นำชาวประมงทั้งเด็กและผู้ใหญ่เข้ารับการตรวจสุขภาพ ที่โรงพยาบาลกรุงเทพระยอง กว่า 100 ราย แพทย์ให้นอนรอดูอาการจำนวน 1 รายเป็นเด็กหญิงอายุ 1 ปี นอกนั้นแพทย์อนุญาตกลับบ้านได้

ผู้ว่าฯกล่าวว่า ขณะนี้ได้สั่งให้โรงงานหยุดการบำบัดน้ำในระบบเปิดทันทีแล้ว พร้อมให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐเข้ามาตรวจสอบร่วมกับทางโรงงานเพื่อหาข้อเท็จจริงโดยจะให้เวลา 3 วัน ในการตรวจสอบ ซึ่งหากไม่เร่งดำเนินการทางจังหวัดก็จะใช้อำนาจทางกฎหมายสั่งหยุดกระบวนการผลิตชั่วคราว จนกว่าจะหาสาเหตุและมาตรการป้องกันโดยเร็ว

กำลังโหลดความคิดเห็น