พะเยา - ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม ตรวจสอบความเสียหายพระพุทธรูป และวัดวาอารามเมืองกว๊านฯ หลังได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหว เผย เป็นห่วง “พระเจ้าตนหลวง” วัดศรีโคมคำ หลังพบร้อยร้าวเพิ่มหลายแห่ง เบื้องต้นเตรียมเร่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบความเสียหาย ก่อนประมาณการงบประมาณบูรณะส่ง ครม.อนุมัติ ภายใน 30 วันเป็นอย่างช้า
วันนี้ (30 มี.ค.) นายปรีชา กันธิยะ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมด้วยนายนภดล ภู่ชัย หัวหน้าหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติแห่งชาติฯพะเยา และนายมงคล สิทธิหล่อ วัฒนธรรมจังหวัดพะเยา ได้เข้าตรวจสอบความเสียหายพระเจ้าตนหลวง พระประธานในพระอุโบสถวัดศรีโคมคำ พระอารามหลวง ต.เวียง อ.เมือง จงพะเยา หลังได้รับความเสียงหายแตกร้าวบริเวณแขนด้านขวาไม่น้อยกว่า 60 เซนติเมตร จากเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 24 มี.ค.54 ที่ผ่านมา
พระเจ้าตนหลวง เป็นองค์พระประธานเก่าแก่ ศิลปะเชียงแสนที่ใหญ่ที่สุดในล้านนา ขนาดหน้าตักกว้าง 14 เมตร สูง 16 เมตร สร้างจากอิฐมอญผสมกับปูนขาว ชาวพะเยาถือเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง ตามตำนาน พระเจ้าตนหลวงสร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.2034 อยู่ในความอุปถัมภ์ของพระเมืองแก้ว เจ้าผู้ครองเมืองเชียงใหม่ และพระยาเมืองตู้ เจ้าผู้ครองเมืองพะเยาในสมัยนั้น เป็นที่เคารพสักการะยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวพะเยา
นอกจากนี้ คณะของนายปรีชา ยังได้เข้าไปตรวจสอบพระพุทธรูปปางลีลา วัดอนาลโยพิทยาราม บนดอยบุษราคัม ต.สันป่าม่วง อ.เมือง ที่พบความเสียหายแตกร้าวเกือบทั้งองค์, พระธาตุเจดีย์วัดลี ใน ต.เวียง อ.เมือง และพระธาตุเจดีย์ที่วัดพระธาตุขิงแกง อ.จุน ที่ได้รับความเสียหายบริเวณยอดและฐานรวมไปถึงอุโบสถในวัดต่างๆ ก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน
นายปรีชา เปิดเผยหลังตรวจสอบความเสียหาย พบว่า พระพุทธรูป เจดีย์ต่างๆ รวมไปถึงอาคารวัดต่างๆ ได้รับความเสียหายแตกเป็นรอยร้าวจำนวนมาก ซึ่งหากทิ้งไว้อาจเสียหายเพิ่มได้ โดยเฉพาะ “พระเจ้าตนหลวง” วัดศรีโคมคำ ที่พบว่า หลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหว ได้มีการแตกร้าวเพิ่มมากขึ้นจากเดิมเกือบเท่าตัว ซึ่งอาจเกิดเพราะมีน้ำไหลซึมผ่านเข้าไปภายในตัวพุทธรูปจึงส่งผลให้เกิดร้อยร้าวเพิ่มมากขึ้น
เบื้องต้นวัดได้เจาะรูบริเวณหลังพระพุทธรูป กว่า 50 รู เพื่อระบายความชื้น ชะลอการแตกร้าว ทั้งนี้ หากไม่เร่งดำเนินการซ่อมแซมบูรณะแล้ว เกรงว่า ภายในอีก 4-5 วันนี้ข้างหน้านี้ อาจได้เสียหายเพิ่มมากกว่านี้ก็เป็นได้
นอกจากนี้ ยังมีอาคารวัดลีที่ได้รับความเสียหายแตกร้าว ซึ่งจะต้องเร่งดำเนินการโดยเร็ว เพราะอาจเกิดเหตุอาคารถล่มทำให้พระเณรได้รับบาดเจ็บหรือมรณภาพได้
ดังนั้น หลังจากนี้ จะเร่งเจ้าหน้าที่รวมถึงช่าง กรมศิลปากร เข้าตรวจสอบประเมินความเสียหาย พร้อมทั้งนำข้อมูลทั้งหมดในภาพรวมของกระทรวงวัฒนธรรม เสนอ ครม.เพื่อพิจารณาอนุมัติงบประมาณในการดำเนินการบูรณะ ทั้งนี้ จะต้องไม่น้อยกว่า 30 วันเป็นอย่างช้า เนื่องจากโบราณสถานและโบราณวัตถุบางแห่งจำเป็นต้องเร่งบูรณะเป็นการด่วนเพราะอาจเสียหายเพิ่ม เช่น “พระเจ้าตนหลวง” ในพะเยา