xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการ มช.แนะอย่าตื่นกลัวเกินเหตุเรื่องแผ่นดินไหว แนะศึกษาวิธีป้องกัน-กระตุ้นภาครัฐวางนโยบายรับมือระยะยาว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - นักวิชาการ มช.ประสานเสียงบอกประชาชนอย่าตื่นกลัวเรื่องแผ่นดินไหวเกินเหตุ ชี้ ครั้งนี้ใกล้บ้าน-ค่อนข้างแรงถึงเป็นข่าวใหญ่ ย้ำ แผ่นดินไหวเรื่องปกติพื้นที่แถบนี้มีแนวโน้มเกิดอยู่แล้ว แนะทำความเข้าใจ-ศึกษาวิธีป้องกันตัว พร้อมแนะภาครัฐเตรียมวางนโยบายรับมือในระยะยาว

ผศ.ดร.ชยานนท์ หรรษภิญโญ รองหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมโยธา และอาจารย์ประจำศูนย์การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ โครงสร้างพื้นฐานและภัยพิบัติ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในประเทศพม่าว่า เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ใช่เรื่องที่อยู่เหนือความคาดหมายสำหรับกลุ่มผู้ที่ศึกษาและติดตามข้อมูลเกี่ยวกับการเกิดแผ่นดินไหวมาโดยตลอด เพราะพื้นที่แถบนี้มีแนวโน้มของการเกิดแผ่นดินไหวอยู่แล้ว เนื่องจากในพื้นที่ภาคเหนือและในเขตประเทศเพื่อนบ้านมีรอยเลื่อนที่มีพลังซึ่งสามารถก่อให้เกิดแผ่นดินไหวอยู่หลายแห่ง เพียงแต่ไม่สามารถที่จะพยากรณ์หรือระบุได้ล่วงหน้าว่าจะเกิดเหตุการณ์ขึ้นเมื่อใด

ทั้งนี้ การเกิดเหตุในครั้งนี้ถือว่ามีความรุนแรงที่ประชาชนรู้สึกได้มากกว่าการเกิดแผ่นดินไหวครั้งที่ผ่านๆ มา เนื่องจากจุดศูนย์กลางการเกิดแผ่นดินไหวอยู่ใกล้กับประเทศไทย และส่งผลให้พื้นที่ที่อยู่ใกล้เคียงกับแหล่งกำเนิดของแผ่นดินไหวอย่าง อ.แม่สาย ได้รับผลกระทบค่อนข้างสูง ทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตัวและให้ความสนใจในเรื่องแผ่นดินไหวเป็นอย่างมาก

ผศ.ดร.ชยานนท์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ไม่อยากให้ประชาชนรู้สึกตื่นตระหนก หรือหวั่นวิตกมากเกินไป เนื่องจากการเกิดแผ่นดินไหวนั้นถือเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นปกติอยู่แล้ว สิ่งที่ประชาชนและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญก็คือนำข้อมูลต่างๆ ที่ได้มาประมวลว่าควรจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการตรวจสอบความแข็งแรงหรือการออกแบบอาคารให้สามารถรองรับแรงแผ่นดินไหวได้ หรือการให้ความรู้แก่ประชาชนเพื่อให้สามารถเตรียมตัวรับมือกับเหตุแผ่นดินไหวได้อย่างถูกต้อง

ด้าน ดร.สราวุธ จันทร์ประเสริฐ อาจารย์ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวในครั้งนี้ ว่า แผ่นดินไหวดังกล่าวเกิดขึ้นใกล้กับรอยเลื่อนน้ำมาที่มีบริเวณตั้งแต่ตอนใต้ของสิบสองปันนา ผ่านทางตอนเหนือของลาวไปจนถึงส่วนตะวันออกสุดของพม่า และเป็นรอยเลื่อนที่อยู่ใกล้เคียงกับรอยเลื่อนแม่จันที่พาดผ่านพื้นที่ จ.เชียงรายและ จ.เชียงใหม่

ดร.สราวุธ กล่าวต่อว่า มีแนวคิดเกี่ยวกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่น่าสนใจอยู่สองแนวคิด แนวคิดแรกคือ เมื่อรอยเลื่อนหนึ่งมีการเคลื่อนตัวก็จะส่งผลให้รอยเลื่อนอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียงมีการเคลื่อนไหวด้วย ซึ่งหากมองในประเด็นนี้พื้นที่ภาคเหนือก็อาจได้รับผลกระทบเนื่องจากมีรอยเลื่อนพาดผ่านในพื้นที่อยู่

ส่วนแนวคิดที่สอง เชื่อว่า เมื่อรอยเลื่อนปล่อยพลังงานออกมาแล้ว พลังงานเก็บไว้ในรอยเลื่อนใกล้เคียงก็จะลดลง ซึ่งถ้ามองในประเด็นนี้ความเสี่ยงที่รอยเลื่อนในไทยจะปล่อยพลังงานก็จะลดลง

ส่วนกรณีที่มีการแสดงความเห็นว่าการเกิดแผ่นดินไหวดังกล่าวอาจเป็นผลมาจากการเกิดแผ่นดินไหวในประเทศญี่ปุ่นนั้น ดร.สราวุธ กล่าวว่า มีความเชื่อว่า หากเกิดแผ่นดินไหวขึ้นในโลกแล้วจะส่งผลให้ความสมดุลของเปลือกโลกเปลี่ยนไป แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่น่าจะเกี่ยวข้องกัน และเปลือกโลกทั้งสองส่วนก็ไม่ได้อยู่ติดกันด้วย

สำหรับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับประเทศไทยนั้น ดร.สราวุธ กล่าวว่า เหตุแผ่นดินไหวนั้นตามสถิติมีการเกิดขึ้นเรื่อยๆ อยู่แล้ว เพียงแต่ที่ผ่านมาอาจจะไม่ได้เป็นข่าว ต่างกับครั้งนี้ที่เกิดใกล้ประเทศไทยและมีความรุนแรงจึงได้รับความสนใจทั้งจากสื่อและประชาชน

อย่างไรก็ตาม ประชาชนไม่ควรตื่นตระหนก แต่ควรศึกษาเพื่อให้ทราบว่าหากเกิดเหตุการณ์ขึ้นจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ส่วนในระดับนโยบายนั้นรัฐบาลควรให้ความสำคัญในเรื่องการกำหนดการออกแบบอาคารให้สามารถรับแรงแผ่นดินไหวได้ รวมทั้งมีการบริหารจัดการพื้นที่ที่อาจมีความเสี่ยง โดยอาจจะศึกษาตัวอย่างจากประเทศญี่ปุ่นที่จัดให้จุดที่มีความเสี่ยงเป็นพื้นที่เกษตรกรรมและหลีกเลี่ยงการตั้งชุมชนหรือสิ่งปลูกสร้างในบริเวณดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น