xs
xsm
sm
md
lg

“เอดส์เน็ทอีสาน” ห่วงเอดส์แรงงานข้ามชาติ เน้นแนวทางป้องกันดึงสื่อท้องถิ่นร่วมทำงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เวทีจัดประชุมสื่อมวลชนในการพัฒนาความร่วมมือการทำงานด้านสุขภาพกับแรงงานข้ามชาติ ภายใต้โครงการส่งเสริมการป้องกันเอดส์ในแรงงานข้ามชาติ จัดโดยเอดส์เน็ทภาคอีสาน
ศูนย์ข่าวขอนแก่น - เอดส์เน็ทอีสาน ห่วงปัญหาการแพร่ระบาดเอดส์และโรคติดต่อ ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติใน 3 จังหวัดภาคอีสาน เหตุเข้าไม่ถึงบริการสาธารณสุข วางกรอบสกัดการแพร่ระบาด จัดอาสาสมัคร พร้อมดึงสื่อวิทยุท้องถิ่นร่วมเป็นกลไก กระจายข้อมูลการป้องกันโรคเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ขณะที่การจ้างแรงงานข้ามชาติมีแนวโน้มสูงขึ้น เหตุคนไทยไม่ยอมทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม

วันนี้ (25 มี.ค.) มูลนิธิพัฒนาเครือข่ายเอดส์ (เอดส์เน็ท) สำนักงานภาคอีสาน จัดประชุมสื่อมวลชนในการพัฒนาความร่วมมือการทำงานด้านสุขภาพกับแรงงานข้ามชาติ ภายใต้โครงการส่งเสริมการป้องกันเอดส์ในแรงงานข้ามชาติ โดยบุคลากรจากเอดส์เน็ทภาคอีสาน หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชนร่วมประชุม ณ ห้องประชุมอัพทาวน์ โรงแรมขอนแก่นโฮเต็ล อ.เมือง จ.ขอนแก่น

นายศราวุฒิ เหล่าสาย ผู้จัดการมูลนิธิพัฒนาเครือข่ายเอดส์ สำนักงานภาคอีสาน เปิดเผยว่า เอดส์เน็ทอีสาน ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการป้องกันเอดส์ในแรงงานข้ามชาติ ตามกรอบระยะเวลา 2 ปี ตั้งแต่ มิถุนายน 2552 - พฤษภาคม 2554 ในกลุ่มเป้าหมายแรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติคือ ลาว พม่า และกัมพูชา ที่ทำงานภาคเกษตรกรรม และโรงงานอุตสาหกรรม ในพื้นที่เป้าหมาย 3 จังหวัด คือ ขอนแก่น หนองคาย และนครพนม

เป้าหมายเพื่อให้แรงงานข้ามชาติในพื้นที่ 3 จังหวัด สามารถเข้าถึงข้อมูล องค์ความรู้ การบริการสุขภาพ และมีส่วนร่วมต่อการดำเนินงาน ที่มีอาสาสมัครแรงงานข้ามชาติ ร่วมทำหน้าที่กระจายข้อมูล

การดำเนินงานตามโครงการดังกล่าว พบว่า แรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานใน 3 จังหวัดเป้าหมายแตกต่างกัน โดยจังหวัดหนองคายและนครพนม ส่วนใหญ่เข้ามาทำงานในภาคเกษตรกรรม ส่วนจังหวัดขอนแก่นแรงงานข้ามชาติเกือบทั้งหมด ทำงานในภาคอุตสาหกรรมตามโรงงานต่างๆ อาทิ โรงงานแหอวน ที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก

นายศราวุฒิ กล่าวว่า ปัญหาสำคัญของแรงงานข้ามชาติ มักเข้าไม่ถึงบริการด้านสาธารณะสุข เมื่อเกิดเจ็บป่วย แรงงานข้ามชาติจะไม่เข้าไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล ส่วนใหญ่ซื้อยารักษาเอง หรือใช้บริการสถานีอนามัยประจำตำบล เว้นแต่เจ็บป่วยหนัก จึงยอมเข้ามารักษาตัวในโรงพยาบาล ทำให้การสำรวจผู้ติดเชื้อเอชไอวี ทำได้ลำบาก ข้อมูลผู้ติดเชื้อไม่ตรงกับข้อเท็จจริง

“การป้องกันการแพร่ระบาดโรคเอดส์และโรคติดต่ออื่นภายในโรงงานนั้น มีการควบคุมไว้อย่างรัดกุม โดยมีการแยกห้องพักชาย-หญิง มียามรักษาการดูแลความปลอดภัย แต่ที่น่าเป็นห่วงของการสกัดการระบาดโรค กรณีวันหยุดแรงงานข้ามชาติ มักจะออกจากโรงงานมาเที่ยว หรือชอปปิ้งในตัวเมือง หากแรงงานข้ามชาติไม่มีความรู้ในการป้องกัน อาจเกิดการแพร่ระบาดโรคได้” นายศราวุฒิ กล่าวและว่า

ขณะเดียวกัน สถานการณ์ด้านการจ้างงาน พบว่า แรงงานในภาคอุตสาหกรรมเริ่มขาดแคลน เพราะค่านิยมคนไทยที่จบการศึกษาแล้ว ไม่ต้องการทำงานในโรงงาน เฉพาะที่จังหวัดขอนแก่น ณ ปัจจุบัน ยังขาดแคลนแรงงานกว่า 12,000 อัตรา ซึ่งที่ผ่านมามีการจ้างแรงงานข้ามชาติที่จังหวัดขอนแก่นที่จดทะเบียนไว้ถูกต้องแล้ว 4,870 คน แนวโน้มต่อไปจะต้องเกิดการแรงงานข้ามชาติเพิ่มขึ้นอีกมาก

ดังนั้น การป้องกันโรคเอดส์และโรคติดต่อจึงเป็นวิธีดีที่สุด โดยที่ผ่านมา ได้เข้าไปรณรงค์ ให้แรงงานตระหนักถึงปัญหาโรคเอดส์ และโรคติดต่อภายในโรงงานอุตสาหกรรม พร้อมทั้งจัดตั้งอาสาสมัครแรงงานข้ามชาติ มาร่วมเป็นกลไกทำงานรณรงค์ป้องกันโรคภายในโรงงาน

ทั้งปรับทำงานเชิงรุก สร้างการรับรู้แนวทางป้องกันการระบาดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่ออื่นๆ ผ่านสื่อวิทยุชุมชน โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ มาร่วมเป็นกลไกการทำงาน โดยเฉพาะสื่อวิทยุท้องถิ่นนั้น มีบทบาทกระจายข้อมูลข่าวสารเข้าถึงแรงงานข้ามชาติ ทั้งจัดให้แรงงานข้ามชาติมาร่วมทำงานกระจายข้อมูลและเปิดรับข้อมูลจากผู้ฟัง เพื่อให้การทำงานป้องกันมีประสิทธิภาพสูงสุด

นายศราวุฒิ เหล่าสาย ผู้จัดการมูลนิธิพัฒนาเครือข่ายเอดส์ สำนักงานภาคอีสาน
กำลังโหลดความคิดเห็น