ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - “จุรินทร์” เปิดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่สำหรับพระสงฆ์ พบพระอาพาธเพราะอาหาร “หวาน มัน เค็ม” ที่ญาติโยมถวาย ทำตัวเลข “เบาหวาน-ความดัน-หัวใจ-มะเร็ง” พุ่ง แถมพบพระยังติดบุหรี่อีกเพียบ เล็งหารือมหาเถระหาทางปรับเปลี่ยนพฤติกรรม พร้อมวอนประชาชนใส่บาตรอาหารที่ดีต่อสุขภาพ
วันนี้ (4 มี.ค.) ที่วัดศรีโสดา (พระอารามหลวง) จังหวัดเชียงใหม่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ สำหรับพระภิกษุ สามเณร จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา
โครงการดังกล่าวเป็นโครงการของมูลนิธิโรงพยาบาล 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ์ และโรงพยาบาล 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ์ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และองค์กรต่างๆ จัดทำโครงการหน่วยแพทย์พระราชทานเคลื่อนที่สำหรับพระภิกษุ สามเณร ในพระราชูปถัมภ์ และในสังฆราชูปถัมภ์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เพื่อถวายบริการด้านการแพทย์ ทันตแพทย์ และความรู้ด้านสุขภาพแก่พระภิกษุ สามเณร ทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 7 พ.ย.2553 ถึงวันที่ 10 ธ.ค. 2554
ในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ได้ตั้งเป้าให้บริการตรวจคัดกรอง การบำบัดรักษาสุขภาพอนามัย และการให้ความรู้ด้านสุขภาพแก่พระภิกษุสามเณรของจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 12,189 รูป ครอบคลุมการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสภาพที่ถูกต้อง
ทั้งนี้ การเปิดโครงการในวันนี้ได้มีการนิมนต์พระภิกษุสามเณรจำนวน 500 รูป เพื่อมารับการตรวจคัดกรองและรักษาโรคเบื้องต้น บริการด้านทันตกรรม การตรวจวัดสายตา การเอกซเรย์ปอด และการให้ความรู้ด้านสุขภาพผ่านนิทรรศการต่างๆ
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า โครงการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่สำหรับพระภิกษุสามเณร ได้ตรวจสุขภาพพระภิกษุสามเณรไปแล้วกว่า 1 แสนรูป ซึ่งจกผลการตรวจพบข้อมูลที่น่าตกใจ คือ มีพระภิกษุสามเณรที่มีอาการป่วยตั้งแต่หนึ่งโรคขึ้นไป ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงมากถึงร้อยละ 45 ขณะที่ป่วยแล้วต้องได้รับการรักษาร้อยละ 5 และยังพบว่ามีพระภิกษุสามเณรอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะป่วยอีกถึงร้อยละ 40 นอกจากนี้ ยังพบด้วยว่ามีพระภิกษุสามเณรสูบบุหรี่มากถึงร้อยละ 40
สำหรับโรคที่พระภิกษุสามเณรป่วยมากที่สุด ได้แก่ โรคเบาหวานและโรคความดันโลหิต รองลงมาได้แก่โรคหัวใจ มะเร็ง และหลอดเลือดสมองตามลำดับ โดยมีสาเหตุก็มาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต โดยเฉพาะการบริโภครสหวาน มัน เค็ม มากเกินไป ไม่ค่อย บริโภคผักผลไม้น้อย ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย จึงจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทั้งการดำรงชีวิต และการบริโภคใหม่
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่สำคัญ ก็คือ พระภิกษุสามเณรไม่สามารถเลือกบริโภคอาหารได้เนื่องจากต้องรับบิณฑบาตจากชาวบ้าน ซึ่งมักจะนำอาหารรสหวาน มัน เค็ม มาใส่บาตร ทางกระทรวงสาธารณสุข จึงเตรียมที่จะหารือกับมหาเถระสมาคม เพื่อหาแนวทางในการกำหนดมาตรการที่เหมาะสมสำหรับพระภิกษุสามเณรในการบริโภคอาหารที่เหมาะสม ขณะเดียวกัน ก็จะรณรงค์ขอความร่วมมือจากประชาชนในการเลือกอาหารที่เหมาะสมสำหรับสุขภาพมาใส่บาตรให้กับพระภิกษุสามเณรด้วย