xs
xsm
sm
md
lg

มั่นใจสถานการณ์น้ำหน้าแล้งไม่กระทบลงทุนภาคอุตฯ ตอ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวศรีราชา - ผอ.ศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 4 มั่นใจสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกในช่วงฤดูแล้งจะไม่กระทบต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนภาคอุตสาหกรรมของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะชาวญี่ปุ่นที่มีตัวเลขการลงทุนในพื้นที่สูงเป็นอันดับ 1 และยังมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถรองรับกับสถานการณ์ดังกล่าวได้เป็นอย่างดี รวมทั้งการขยายการลงทุนในทั้งขนาดกลางและขนาดใหญ่ของกลุ่มนักลงทุนไทย เหตุเพราะยังมีปัจจัยบวกโดยเฉพาะระบบสาธารณูปโภคและท่าเรือน้ำลึก รวมถึงทำเลที่อยู่ไม่ไกลสนามบิน

นายสันติ ลีละวงศ์ ผู้อำนวยการ ศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 4 สำนักงานส่งเสริมการลงทุนภาคตะวันออก เผยถึงทิศทางการลงทุนภาคอุตสาหกรรมในปี 2554 ของพื้นที่ภาคตะวันออก หลังตัวเลขขอส่งเสริมลงทุนในปี 2553 มีมากถึง 471 โครงการ เติบโตจากปีก่อนร้อยละ 41.19 คิดเป็นมูลค่า 164.28 พันล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 41.65ว่า จะยังเป็นไปในทิศทางที่ดี และมีแนวโน้มว่าจะมีการลงทุนของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ในลักษณะของการขยายการลงุทนอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับการขยายตัวของกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมทั้งในกลุ่มผู้ประกอบการชาวไทยและต่างชาติ

กลุ่มทุนที่จะยังมีการลงทุนอย่างต่อเนื่องก็คือกลุ่มทุนจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งในปี 2553 นักลงทุนกล่มนี้มีการลงทุนและขยายการลงทุนในพื้นที่ภาคตะวันออก มากเป็นครึ่งหนึ่งของมูลค่าการลงทุนที่มีทั้งประเทศ

“ปัจจัยบวกที่ดีและเข้มแข็งซึ่งถือเป็นจุดดึงดูดการลงทุนที่สำคัญของภาคตะวันออก ก็คือการมีระบบสาธารณูปโภคที่ทั้งด้านการขนส่งทางบกและทางน้ำ เห็นได้จากการมีท่าเรือน้ำลึกและยังมีจุดยุทธศาสตร์ที่ไม่ไกลจากสนามบินสุวรรณภูมิ ขณะที่การพัฒนาเส้นทางบกก็มีการขยายตัว ทำให้นักลงทุนมั่นใจที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่แห่งนี้ เห็นได้จากในระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมา กลุ่มนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นมีการขยายการลงทุนในภาคตะวันออกค่อนข้างมาก ”

นายสันติ ยังเผยถึงปัญหาน้ำที่หลายฝ่ายคาดว่าฤดูแล้งปีนี้ภาคตะวันออกรวมถึงอีกหลายจังหวัดทั่วประเทศจะประสบดังกล่าววหนักกว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาว่า ปัญหาเรื่องน้ำถือเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ซึ่งก็เป็นข้อดีที่ให้ผู้ประกอบการได้คิดหาวิธีรับมือและแนวทางในการป้องกัน ที่สำคัญภาคอุตสาหกรรมที่เข้ามาลงทุนในภาคตะวันออกเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำน้อย เพราะเป็นการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ขณะที่ผู้ประกอบการก็ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีที่มีความทันสมัยและลดการพึ่งพาการใช้น้ำมากขึ้น จึงทำให้ปัญหานี้ไม่น่าเป็นห่วงเท่ากับปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ทั้งแรงงานฝีมือ และแรงงานไร้ฝีมือ

หลังปัจจุบันพบว่าบุคลากรรุ่นใหม่ มีความเชื่อว่าต้องศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยมากกว่าการศึกษาในสายอาชีพ ทำให้ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการต้องกำหนดหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อรองรับการผลิตแรงงานฝีมือป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น