ตราด - มูลนิธิเด็กโรคหัวใจฯ จัดกิจกรรมตรวจคัดกรองตามโครงการ “ผ่าตัดเด็กหัวใจ 2,500 ราย ถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ” ที่ จ.ตราด
วันนี้ (9 ก.พ.54 ) ที่โรงพยาบาลตราด นางสาวเบญจวรรณ อ่านเปรื่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด เป็นประธานเปิดกิจกรรมตรวจยืนยันการคัดกรองขั้นสุดท้ายหัวใจเด็กตามโครงการ “ผ่าตัดเด็กหัวใจ 2,500 ราย ถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์” ซึ่งมูลนิธิเด็กโรคหัวใจ ในพระอุปถัมภ์ ของสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกรมควบคุมโรค ร่วมกันดำเนินโครงการทั่วประเทศ โดยการจัดโครงการในครั้งนี้ได้จัดหน่วยแพทย์ พร้อมเครื่องมือมาตรวจคัดกรองให้กับเด็กนักเรียนในจังหวัดตราด
ศาสตราจารย์นายแพทย์บุญชอบ พงษ์พาณิชย์ ประธานคณะกรรมการมูลนิธิเด็กโรคหัวใจฯ กล่าวว่า ประชาชนทั่วไปอาจไม่ทราบว่าเด็กก็สามารถเป็นโรคหัวใจได้
โดยส่วนใหญ่เป็นโรคหัวใจพิการมาตั้งแต่กำเนิด โดยประเทศไทยในแต่ละปีพบเด็กที่หัวใจพิการมาตั้งแต่กำเนิดประมาณ 8,000 คน หรือประมาณร้อยละ 1 ของเด็กเกิดใหม่มีชีวิตและมีแนวโน้มสูงขึ้นจากปัจจัยในการดำเนินชีวิตของคนในปัจจุบัน แต่ยังโชคดีที่เด็กที่เป็นโรคหัวใจประมาณร้อยละ 50 มีอาการไม่รุนแรง โดยอาจเป็นรูรั่วเล็ก ๆ ที่หัวใจ แต่เมื่อโตขึ้น รูรั่วดังกล่าวอาจปิดเองได้ ส่วนอีกร้อยละ 50 ที่เหลือจะต้องทำการรักษาด้วยการผ่าตัด โดยหากเด็กในกลุ่มหลังที่เป็นโรคหัวใจแล้วไม่ได้เข้ารับการรักษาที่รวดเร็ว จะพบว่ามีเด็กกลุ่มนี้ถึงร้อยละ 20 จะเสียชีวิตใน 6 ปี แรก
ดังนั้น การตรวจคัดกรองเด็กตามโครงการนี้จึงมีความสำคัญ อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ทางมูลนิธิฯได้มาทำดำเนินการฝึกการตรวจคดกรองใน เบื้องต้นให้กับพยาบาลและเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยในทุกพื้นที่เพื่อเพื่อ ดำเนินการตรวจในเบื้องต้น ในแต่ละพื้นที่ที่ตนปฏิบัติงานอยู่ ก่อนที่จะส่งตัวเด็กที่มีอาการน่าสงสัยเข้ามาดำเนินการตรวจคัดกรองขั้นสุด ท้ายในวันนี้ หากพบว่าเด็กเป็นโรคหัวใจจริงก็จะดำเนินการส่งตัวเข้าทำการรักษาด้วยการผ่า ตัดต่อไป
โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติรับภาระในการออกค่าใช้จ่าย ในการดำเนินการรักษาที่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายถึงรายละกว่า 200,000 บาท ในกรณีที่ดำเนินการผ่าตัดเปิดหัวใจเพื่อรักษา