พิจิตร - ธ.ก.ส.พิจิตร ร่วมหนุน 12 โรงเรียนชนบทเมืองชาละวัน ใช้แนวเศรษฐกิจพอเพียงช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนอาหารกลางวันยุค “ข้าวยาก หมากแพง” ขณะที่รัฐจัดงบอุดหนุนให้แค่ 13 บาทต่อคนต่อวัน
วันนี้ ( 4 ก.พ. )นายกิตติศักดิ์ ศรีสุนทร ผอ.ธกส.พิจิตร เปิดเผยว่า จากปัญหาราคาสินค้าทุกชนิดต่างปรับขึ้นราคา ส่งผลให้เด็กนักเรียนในชนบทและถิ่นทุรกันดารของพิจิตร ต้องขาดแคลนอาหารเนื่องจากรัฐบาลให้งบอุดหนุนในการทำอาหารกลางวันและนมกล่องเพียงแค่หัวละ 13 บาทต่อวันต่อคน ซึ่งไม่พอที่จะซื้อข้าวสาร พืชผัก เนื้อหมู เนื้อปลา เนื้อไก่ มาปรุงเป็นกับข้าวให้เด็กได้
ดังนั้น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) พิจิตร จึงได้ดำเนินการโครงการ “หนึ่งสาขา หนึ่งโรงเรียน หนึ่งทุน” ขึ้น โดยมอบเงินให้ 12 โรงเรียน ที่มีสาขาธนาคาร ธกส. ตั้งอยู่ เพื่อนำเงินนี้ไปให้ครูและนักเรียนทำโครงการอาหารกลางวัน เดินตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ปลูกพืชผักเลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ เพาะเห็ด ทำเอง กินเอง ขายเอง ซึ่งปรากฏว่าได้ผล ทำให้เด็กมีอาหารกลางวันรับประทานสมบูรณ์มากขึ้น อีกทั้งโครงการเกษตรที่ทำก็ทำให้เด็กได้มีความรู้เพิ่มขึ้น
วันนี้ (4 ก.พ.)ได้ลงพื้นที่ติดตามดูความคืบหน้าของโครงการ ที่ ร.ร.อนุบาลสากเหล็ก ซึ่งมีนาย สมนึก มั่นมาก ครูชำนาญการพิเศษสาขาเกษตรของโรงเรียน นำเยี่ยมชมโรงเรือนเพาะเห็ดนางฟ้าและบ่อเลี้ยงปลาดุก ที่ได้รับเงินสนับสนุนให้ไปทำโครงการดังกล่าวและประสบผลสำเร็จ เช่นเดียวกับอีก 12 โรงเรียน
ด.ช.สุรัช ไวดา อายุ 11 ปี เรียนอยู่ชั้นป.6/1 ซึ่งเป็นหัวหน้ากลุ่มในการทำโครงการอาหารกลางวันภายในโรงเรียนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง เล่าให้ฟังว่า ในโรงเรียนมีเพื่อนนักเรียนทั้งหมด 736 คน ซึ่งก่อนหน้านี้ อาหาร มีให้รับประทานเหมือนกัน แต่จะไม่ค่อยมีเนื้อปลา , เนื้อหมู , เนื้อไก่ คือ มีแต่ผัก เพราะครูบอกว่าทุกวันนี้ของแพง หลังจากมีโครงการนี้เข้ามา เด็กๆก็ได้เรียนรู้และได้นำผลผลิตมาปรุงเป็นอาหารกลางวัน ทำให้ได้กินอร่อย อิ่ม
ด้านนายวิสูตร ชาวไทย ผอ.ร.ร.อนุบาลสากเหล็ก กล่าวว่าต้องขอขอบคุณโครงการของ ธ.ก.ส.พิจิตร และอีกหลายหน่วยงาน ที่เล็งเห็นความสำคัญของอาหารกลางวันเด็กๆในชนบท ที่ในยุคอาหารแพง แต่ต้องบริหารจัดการงบประมาณที่มีเท่าเดิม ดังนั้น เมื่อทำตามคำสอนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง จึงทำให้สามารถทำโครงการอาหารกลางวันภายในโรงเรียนได้อย่างสมบูรณ์ขึ้น