xs
xsm
sm
md
lg

อพท.ประชุมเครือข่ายภาคีทั่ว ปท.พัฒนามหกรรมท่องเที่ยวชุมชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - อพท.ระดมพลังเครือข่ายภาคีทั่วประเทศ ร่วมกันต่อยอดพัฒนาศักยภาพเครือข่ายการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ทั้งในและนอกพื้นที่พิเศษ ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมภายใต้แผนปฏิบัติการ 3 ปี เพื่อประสานความเชื่อมโยงองค์ความรู้อย่างเป็นระบบ พัฒนามหกรรมท่องเที่ยวชุมชน และสร้างกลไกความปรองดองแห่งชาติอย่างมีประสิทธิภาพ

วันนี้ (19 ม.ค.) พลตรี สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี เดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการมหกรรมท่องเที่ยวชุมชนและกลไกสร้างความปรองดองแห่งชาติ ณ สวนนงนุชพัทยา ต.นาจอมเทียน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี โดยมี นายวิชิต ชาตไพสิฐ ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี นายอิทธิพล คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา นายกัมพล ตันสัจจา กรรมการบริหาร อพท.และผู้อำนวยการสวนนงนุชพัทยา ให้การต้อนรับ

ด้าน พันเอก ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์ในการรวมพลังเครือข่ายภาคีทั่วประเทศ เพื่อร่วมกันพัฒนามหกรรมท่องเที่ยวชุมชน สร้างกลไกความปรองดองแห่งชาติ อีกทั้งการดำเนินโครงการการสนับสนุนเครือข่ายการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ระดับประเทศไปสู่เป้าหมายการประสานเชื่อมโยงในระดับตำบล อำเภอ จังหวัด ภุมิภาค และระดับประเทศ

ตลอดจนการส่งเสริมสนับสนุนชุมชนท้องถิ่น และพัฒนาองค์ความรู้ให้เครือข่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมอนุรักษ์ พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้มีประสิทธิภาพ เกิดประสิทธิผลอย่างยั่งยืน ให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติการ 3 ปี (พ.ศ.2552-2554) เพื่อให้เครือข่ายภาคีทุกภาคส่วนทั่วประเทศ รวมพลัง ร่วมมือจนเกิดการหนุนเสริมอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเป็นการสร้าง และกำหนดกลไกความปรองดองแห่งชาติ

โดยจัดให้มีการเสวนา “พัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน คุณค่าที่แท้จริงที่มากกว่าการท่องเที่ยว” และสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ค้นหาคุณค่าพัฒนาสู่แผนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน อาทิเช่นจัด Workshop กลุ่มสัมมนาย่อย เครือข่ายท่องเที่ยวชุมชน เครือข่ายผู้ประกอบการสีเขียว เครือข่ายเยาวชนเครือข่ายนักท่องเที่ยว และตลาดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เครือข่ายสื่อเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เกิดองค์ความรู้ตลอดจนประสบการณ์การทำงาน

เกิดโครงการพัฒนาต่างๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีประโยชน์ต่อการต่อยอดการดำเนินงานพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่กว้างขวางออกไป ภายใต้การวิเคราะห์ ทบทวนการประสานเชื่อมโยงองค์ความรู้ การดำเนินงาน และเครือข่ายภาคีดังกล่าวได้อย่างเป็นระบบ ตลอดจนกระตุ้นให้กลุ่มเป้าหมายของการพัฒนาและสังคมให้เห็นความสำคัญ และร่วมสนับสนุนการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

โดยมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินโครงการเพื่อ สรุปบทเรียน และกำหนดทิศทางการการพัฒนา การประสานเชื่อมโยงเครือข่ายภาคีพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนระดับประเทศตลอดจนนำเสนอรูปธรรมการดำเนินงาน พร้อมเปิดตัวและแสดงพลังเครือข่ายภาคีพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนสู่สาธารณะ ในอันจะนำไปสู่ความร่วมมือและสนับสนุนการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนสู่ สาธารณะต่อไป เพื่อนำเสนอรูปธรรมการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของเครือข่ายภาคี ในอันจะทำเกิดความเข้าใจ เกิดทัศนคติที่ดี

ตลอดจนร่วมสนับสนุนการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของเครือข่ายภาคี การขยายการรับรู้ ตลอดจนกระตุ้นให้สังคมเห็นความสำคัญของการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ที่กว้างขวางออกไป

พลตรี สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการและกรรมการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการประกาศพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน 3 แห่ง คือ พื้นที่พิเศษเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี พื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้าง และพื้นที่เชื่อมโยง จ.ตราด พื้นที่พิเศษเมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยง และมีการเตรียมประกาศพื้นที่พิเศษเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน 4 แห่ง คือ เมืองเก่าน่าน เลย อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร และเมืองหัวหิน-เมืองชะอำ

การส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ด้านการท่องเที่ยวชุมชน 6 แห่ง คือ บ้านท่าล้ง บ้านวอแก้ว บ้านบางโรง บ้านห้วยสะพานสามัคคี บ้านเกาะเกิด และอำเภอเวียงเก่า การพัฒนาเครือข่ายท่องเที่ยวโดยชุมชน 9 แห่ง คือตำบลพรุใน ตำบลมะขามเฒ่า ตำบลเชียงดาว ตำบลเนินเพิ่ม ตำบลเกาะเกร็ด ตำบลอัมพวา บ้านทาป่าเปา ศูนย์พัฒนาการเกษตรที่สูงจังหวัดเลย และเครือข่ายสถาบันการท่องเที่ยวโดยชุมชน (CBT-I) จึงต้องมีการเชื่อมโยง การสร้างเครือข่ายเยาวชน อพท.การสร้างเครือข่ายกลุ่มชมรมสนับสนุนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในลักษณะต่างๆ

โดยมีเครือข่ายภาคีเป้าหมายและมีบทบาทเกี่ยวข้องกับการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของ อพท.ประกอบด้วย ชุมชน หน่วยงานท้องถิ่น องค์กรพัฒนาเอกชนผู้ประกอบการ นักวิชาการ ตลอดจนประชาสังคม อาทิเช่น เครือข่ายเยาวชน เครือข่ายท่องเที่ยวชุมชน เครือข่ายพัฒนาองค์ความรู้เครือข่ายนักท่องเที่ยว และเครือข่ายผู้ประกอบการ เพื่อให้เกิดกลไกความปรองดองแห่งชาติอย่างมีประสิทธิภาพ และยั่งยืน ซึ่งพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน คุณค่าที่แท้จริงที่มากกว่าการท่องเที่ยว เพื่อให้เกิดคุณค่าด้านเศรษฐกิจ คุณค่าด้านสังคม/ชุมชน คุณค่าด้านสิ่งแวดล้อม หรือ “พลังเครือข่าย พลังแห่งพัฒนาการท่องเที่ยวสู่ความยั่งยืน”

สำหรับผลที่ได้รับกลุ่มเป้าหมายรู้จักและเห็นความสำคัญของ อพท.ในฐานะหน่วยประสานการพัฒนาหรือเชื่อมโยงเครือข่ายเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเพิ่มขึ้น เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพื่อการดำเนินงานพัฒนาการท่องเที่ยวที่มีประสิทธิภาพ และสิ่งสำคัญที่สุด ก็คือ การท่องเที่ยวเป็นเส้นทางแห่งการปรองดองของพี่น้องชาวไทยทุกคน ผลของการดำเนินโครงการจะส่งผลถึงความร่วมมือ สมัครสมานสามัคคีในชุมชน อย่างแน่นอน


กำลังโหลดความคิดเห็น