xs
xsm
sm
md
lg

4 จว.อีสานใต้แล้งหนักเดือดร้อนกว่า 1.2 ล้านคน - เขื่อน “ลำตะคอง” โคราชลดฮวบเหลือ 36%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 นายวัลลภ เทพภักดี  ผอ.ปภ.เขต 5 นครราชสีมา
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ภัยแล้งคุกคาม 4 จว.อีสานใต้ต่อเนื่องประกาศพื้นที่ภัยพิบัติแล้งแล้ว 49 อำเภอ 354 ตำบล ราษฎรเดือดร้อนกว่า 1.2 ล้านคน พื้นที่เกษตรเสียหายแล้ว 6 ล้าน ส่วนเขื่อน “ลำตะคอง” แหล่งน้ำใหญ่ผลิตประปาหล่อเลี้ยงเมืองโคราชจ่อวิกฤตลดฮวบเหลือเพียง 36% ด้านผู้ว่าฯ โคราชยังยืนยันน้ำมีเพียงพอ อุปโภค-บริโภค ห่วงนาปรังนอกเขตชลประทานแล้งตายได้

วันนี้ (25 มี.ค.) นายวัลลภ เทพภักดี ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 5 (ปภ.เขต 5 ) นครราชสีมา เปิดเผยถึงสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ความรับผิดชอบ 4 จังหวัดอีสานตอนล่าง ประกอบด้วย จ.นครราชสีมา, จ.ชัยภูมิ, จ.บุรีรัมย์ และ จ.สุรินทร์ ว่า ขณะนี้ทางจังหวัดได้มีการประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติจากภัยแล้งแล้ว 49 อำเภอรวม 354 ตำบล 4,186 หมู่บ้าน ในพื้นที่ 4 จังหวัด คือ ชัยภูมิ รวม 16 อำเภอ, บุรีรัมย์ รวม 23 อำเภอ และสุรินทร์ รวม 2 อำเภอ ส่วน จ.นครราชสีมา รวม 8 อำเภอ จากทั้งหมด 32 อำเภอ ราษฎรได้รับผลกระทบ 351,027 ครอบครัว 1,298,398 คน ความเสียหายเบื้องต้นแบ่งเป็น พื้นที่นา 10,001 ไร่ พืชไร่ 3,546 ไร่ พืชสวน 2,581 ไร่ มูลค่าความเสียหาย 6,336,500 บาท

สำหรับ จ.นครราชสีมาประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติจากภัยแล้งแล้ว 8 อำเภอ 57 ตำบล 598 หมู่บ้าน ประกอบด้วยพื้นที่ อ.สีคิ้ว, ประทาย, ขามทะเลสอ, เทพารักษ์,ลำทะเมนชัย, แก้งสนามนาง, พระทองคำ และ อ.ห้วยแถลง ราษฎรได้รับความเดือดร้อนกว่า 36,260 ครัวเรือน ส่วนพื้นที่ทางการเกษตรและมูลค่าความเสียหายกำลังอยู่ระหว่างการสำรวจ

“ปัญหาที่ราษฎรประสบส่วนใหญ่ คือ ปัญหาน้ำสำหรับใช้ในการเกษตร และปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค เนื่องจากในปี 2553 นี้ฤดูแล้งมาเร็วและปริมาณน้ำในแหล่งกักเก็บน้ำต่างๆ เหลือน้อยจึงส่งผลให้สถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ค่อนข้างจะรุนแรงกว่าทุกปี” นายวัลลภกล่าว

ด้าน นายประจักษ์ สุวรรณภักดี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า พื้นที่ประสบภัยแล้งแต่ละอำเภอสามารถขอเบิกจ่ายงบฉุกเฉิน จำนวน 5 แสนบาท ได้ทันทีเพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้กับราษฎรที่ประสบภัย ขณะนี้ทางจังหวัดได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กองทัพภาคที่ 2 และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดฯ เร่งจัดส่งเครื่องสูบน้ำ รถบรรทุกน้ำ ออกไปให้ความช่วยเหลือราษฎรในแต่ละอำเภอ และได้นำน้ำไปแจกจ่ายประชาชนแล้วรวมกว่า 5 ล้านลิตร

“อย่างไรก็ตาม หากงบประมาณดังกล่าวไม่เพียงพอทางอำเภอสามารถร้องขอให้ทางจังหวัดช่วยเหลือได้ โดยมีงบประมาณช่วยเหลือฉุกเฉินอีกจำนวน 50 ล้านบาท” นายประจักษ์กล่าว

ขณะที่สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ของจังหวัดนครราชสีมาจำนวน 4 โครงการ ปริมาณน้ำรวมในอ่างขณะนี้อยู่ที่ 455.52 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 45.89% ของขนาดความจุที่ระดับกักเก็บรวม 992.69 ล้านลบ.ม. ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลางจำนวน 18 โครงการ มีปริมาณในอ่างรวม 93.55 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 55.38% ของขนาดความจุที่ระดับกักเก็บรวม 168.94 ล้าน ลบ.ม.

ในส่วนอ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา แหล่งน้ำดิบผลิตประปาหล่อเลี้ยงเมืองโคราชปัจจุบันปริมาณน้ำในอ่างลดระดับลงอย่างรวดเร็ว ล่าสุดวันนี้ (25 มี.ค.) เหลือปริมาณ 114.28 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 36.34% ของขนาดความจุที่ระดับกักเก็บ 314.49 ล้าน ลบ.ม. ขณะอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่เหลือ ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย มีปริมาณน้ำ 51.57 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 46.88% ของความจุ 110 ล้าน ลบ.ม., อ่างเก็บน้ำลำมูลบน มีปริมาณ 65.59 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 46.52% ของความจุ 141 ล้าน ลบ.ม., อ่างเก็บน้ำลำแซะ มีปริมาณ 147.28 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 53.56% ของความจุ 275 ล้าน ลบ.ม. และอ่างเก็บน้ำลำปลายมาศ มีปริมาณน้ำ 56.89 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 78.05% ของความจุ 98 ล้าน ลบ.ม.

“ขอยืนยันว่าสถานการณ์น้ำที่มีอยู่ในขณะนี้จะเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคของพี่น้องประชาชนแน่นอน ส่วนพื้นที่การเกษตรโดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทานอาจมีปัญหาการขาดน้ำ ที่สำคัญปีนี้ จ.นครราชสีมามีพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรได้ทราบแล้ว” นายประจักษ์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น