หนองคาย- เปิดแสดงอลังการ แสงสีเสียงตำนานสงครามปราบฮ่อ ครั้งแรกของหนองคาย เล่าขานตำนานความกล้าหาญทหารไทยทำศึกสงครามปราบกบฏฮ่อสมัยรัชกาลที่ 5 ในงานฉลองอนุสาวรีย์ปราบฮ่อ และงานกาชาดจังหวัดหนองคาย แสดงให้ชมฟรีตลอด 9 วัน
เมื่อเวลา 19.00 น.คืนที่ผ่านมา (5 มี.ค.) ที่ลานหน้าอนุสาวรีย์ปราบฮ่อ อ.เมืองหนองคาย นายคมสัน เอกชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย และ นายยุทธนา ศรีตะบุตร นายก อบจ.หนองคาย เป็นประธานเปิดการแสดงแสงสีเสียงตำนานสงครามปราบฮ่อ หนึ่งในกิจกรรมพิเศษในงานฉลองอนุสาวรีย์ปราบฮ่อและงานกาชาดจังหวัดหนองคาย ประจำปี 2553
การแสดงแสงสีเสียงตำนานสงครามปราบฮ่อนี้ เป็นการแสดงครั้งแรกที่ชมรมนาฏศิลป์หนองคาย นำนักแสดง 250 คน ทั้งนักแสดงกิตติมศักดิ์ในจังหวัด นักเรียน นักศึกษา โดยการสนับสนุนงบประมาณกว่า 3 ล้านบาทจาก อบจ.หนองคาย เขียนบทและกำกับการแสดงโดยนายยอดยิ่ง ราชตั้งใจ นักวิชาการจากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดหนองคาย
ระหว่างการแสดงมีการใช้เอฟเฟกต์ประกอบฉาก ทั้งฉากการต่อสู้ด้วยอาวุธปืน มีด การต่อสู้แบบประชิดตัว การจุดพลุดอกไม้ไฟประกอบเป็นระยะ สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้ชมเป็นอย่างมาก โดยการแสดงจะมีขึ้นทุกวันของการจัดงานฉลองอนุสาวรีย์ปราบฮ่อ ตั้งแต่วันที่ 5- 13 มี.ค.นี้ เวลา 19.00-20.20 น.
สำหรับการแสดงแสงสีเสียงตำนานสงครามปราบฮ่อ เป็นการเล่าเรื่องตั้งแต่การเกิดกบฏชาวจีนฮ่อ หรือ ไท่ผิง สมัยพระนางซูสีไทเฮา กระจัดกระจายจากประเทศจีนไปตามหัวเมืองต่างๆ และประพฤติตัวเป็นกองโจรมาตีเมืองเชียงขวางและทุ่งเชียงคำ เมืองหลวงพระบาง ชาวเมืองหลวงพระบาง เมืองเวียงจันทน์ และเตรียมยกทัพมาตีเมืองหนองคาย ซึ่งขณะนั้นเจ้าเมืองหนองคายไม่อยู่ผู้ที่รักษาเมืองแทนกลับปล่อยทิ้งราษฎร หลบหนีเอาตัวรอด ทำให้พวกฮ่อยกกองทัพเข้าเมืองหนองคายได้
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทราบข่าวศึกฮ่อยกทัพเข้ามาตีเมืองหนองคาย จึงทรงมีพระบรมราชโองการ ให้พระยามหาอำมาตย์ ซึ่งได้รับมอบหมายให้ไปปราบฮ่อที่เมืองอุบลราชธานีอยู่แล้ว ยกกองทัพเข้าเมืองหนองคาย ปราบพวกฮ่อ จนพวกฮ่อสู้ไม่ได้จึงถอยหนีไป เพื่อให้การปราบฮ่อเป็นไปอย่างรวดเร็วเด็ดขาด จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ “กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม” คุมกองทัพ ขึ้นไปสมทบกับอาสาสมัครจากเมืองหนองคาย กองทัพไทยได้เอาปืนใหญ่ยิงเข้าไปในค่ายของพวกฮ่อจนฮ่อแตกหนีไป กองทัพจึงได้ยกกองทัพกลับเมืองหนองคาย
เมื่อเหตุการณ์สงบเรียบร้อยแล้ว กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม จึงโปรดให้สร้างอนุสาวรีย์ปราบฮ่อขึ้นที่เมืองหนองคาย เพื่อบรรจุอัฐิทหารจากกรมกองต่างๆ ที่เสียสละชีพเพื่อชาติในครั้งนั้น