xs
xsm
sm
md
lg

เมืองช้าง “นาปรัง” พ่นพิษลำห้วยแห้งขอด - ชาวบ้านผวาเดือดร้อนหนักวัวควายขาดน้ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ลำห้วยสาธารณะ บ้านจบกงาม ต.แกใหญ่ อ.เมือง จ.สุรินทร์ แห้งขอดอย่างรวดเร็ว ดินโคลนแตกระแหงเป็นทางยาว ชาวบ้านผวาเดือดร้อนหนัก ไม่น้ำเลี้ยงวัว ควาย วันนี้ ( 4 มี.ค.)
สุรินทร์ - เมืองช้างแล้งหนัก เกษตรกรปลูกข้าวนาปรังจำนวนมากเร่งสูบน้ำเข้าแปลงนาส่งผลแหล่งน้ำธรรมชาติแห้งขอดอย่างรวดเร็ว ลำห้วยดินแตกระแหงเป็นทางยาว ชาวบ้านผวาเดือดร้อนหนัก ไม่มีน้ำเลี้ยงวัวควาย ด้านจังหวัดติดตามสถานการณ์ภัยแล้งใกล้ชิด คาดข้าวนาปรังเสียหายหนัก

วันนี้ (4 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์ภัยแล้งของ จ.สุรินทร์ ว่า ที่ บ้านจบกงาม ต.แกใหญ่ อ.เมือง จ.สุรินทร์ น้ำในลำห้วยสาธารณะใกล้หมู่บ้านสำหรับใช้การเลี้ยงสัตว์ วัว ควายร่วมกันของชาวบ้านได้ลดระดับลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งลำห้วยบางช่วงน้ำแห้งขอดดินโคลนแตกระแหงเป็นทางยาว

สาเหตุเนื่องมาจากเกษตรกรหมู่บ้านใกล้เคียง ซึ่งปลูกข้าวนาปรังเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ได้พากันสูบน้ำจากลำห้วยสาธารณะดังกล่าวเข้าหล่อเลี้ยงต้นข้าวในนาทุกวัน

นายบุญเพิ่ม มีพร้อม อายุ 63 ปี อยู่บ้านเลขที่ 93 บ้านจบกงาม ม. 11 ต.แกใหญ่ อ.เมือง จ.สุรินทร์ กล่าวว่า น้ำใน ลำห้วยบ้านอาโพนซึ่งมีความยาวประมาณ 2 กิโลเมตร ลึกกว่า 4 เมตร ดังกล่าวปีนี้ ปริมาณน้ำได้ลดระดับเร็วมากเพราะชาวบ้านรอบลำห้วยแห่งนี้ปลูกข้าวนาปรัง กันเป็นจำนวนมาก และเร่งสูบน้ำขึ้นไปหล่อเลี้ยวต้นข้าวในนากันทุกวัน จนกระทั่งน้ำใกล้แห้งขอดหมดแล้ว

ทั้งนี้ คาดว่า น้ำในลำห้วยจะแห้งขอดทั้งหมดภายในเดือน มี.ค.นี้ และขณะนี้บางช่วงของลำห้วยน้ำได้แห้งจนกระทั่งดินโคลนแตกระแหง ไม่มีน้ำเหลือแม้แต่จะเลี้ยง วัว ควาย ซึ่งหลายคนต้องนำน้ำจากบ่อน้ำบาดาลมาให้วัว ควาย ดื่มกันแล้ว

“ประชาชนที่อาศัยน้ำจากลำห้วยบ้านอาโพนในการเลี้ยงสัตว์ มีมากถึง 3 ตำบล ประกอบด้วย ตำบลแร่ อ.เขวาสินรินทร์, ต.แกใหญ่ และ ต.อาโพน อ.เมือง จ.สุรินทร์ หากน้ำแห้งขอดหมดทั้งลำห้วยแล้วชาวบ้านจะเดือดร้อนกันมาก” นายบุญเพิ่ม กล่าว

ขณะที่ทางจังหวัดสุรินทร์และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสุรินทร์ ได้เฝ้าระวังติดตามปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ของจังหวัดอย่างใกล้ชิด พร้อมประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อคอยให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยแล้ง ได้อย่างทันท่วงที

โดยสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ความเสียหายจำนวนมากที่จะเกิดขึ้นกับพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง ซึ่งปีนี้เกษตรกรชาวสุรินทร์หันมาปลูกข้าวนาปรัง เพิ่มขึ้นจากปี 2552 ที่ผ่านมา เกือบ 7 เท่าตัว โดยอยู่ในเขตชลประทานเพียง 14,000 ไร่ และ อยู่นอกเขตชลประทานถึงกว่า 100,000 ไร่ ประกอบขณะนี้สภาพอากาศร้อนขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้น้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติหลายแห่ง ลดระดับลงอย่างรวดเร็ว







กำลังโหลดความคิดเห็น