ตาก - เกษตรกรลุ่มน้ำแม่ตาว พื้นที่สารปนเปื้อนแคดเมียม เริ่มทำลายต้นปาล์ม-หัวหลังให้อาชีพทำไร่อ้อย เพื่อกลับไปปลูกข้าวอีกครั้ง ไม่สนวิกฤตสารปนเปื้อน หลังเจอปัญหาผลผลิตขายไม่ออกขาดทุนยับกันถ้วนหน้า
รายงานข่าวจาก อ.แม่สอด จ.ตาก แจ้งว่า ขณะนี้เกษตรกรพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ตาว ต.แม่ตาว อ.แม่สอด เริ่มเตรียมพื้นที่รองรับการปลูกข้าว ในฤดูหน้ากันอีกครั้ง หลังต้องทำลายต้นปาล์ม - อ้อยทิ้งไปมากกว่า 200- 300 ต้น เนื่องจากก่อนหน้านี้ได้เข้าโครงการปลูกพืชอื่นเพื่อทดแทนอาชีพ ตามคำแนะนำของนักวิชาการเกษตรในพื้นที่ เพื่อแก้ปัญหาสารปนเปื้อนแคดเมียมในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ตาว ทั้งเขต ต.แม่ตาว ต.แม่กุ กับ ต.พระธาตุผาแดง เนื่องมาจาก มีพื้นที่น้อย ราคาไม่ดี ทำให้เกษตรกรเริ่มหันกลับไปสู่อาชีพการปลูกข้าว และพืชอื่นๆ ที่เคยปลูกมาแต่ดั้งเดิม
เกษตรกรรายหนึ่ง กล่าวว่า ตนเองได้เริ่มเข้าโครงการปลูกปาล์มมาตั้งแต่แต่ พ.ศ.2548 หลังจากไปดูงานในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ และกลับมาปลูกปาล์มในพื้นที่ประมาณ 15-20 ไร่ แต่ผลผลิตไม่ดี ไม่มีตลาดรองรับในพื้นที่ ทำให้ขาดทุนไปกว่า 250,000 -300,000 บาท จากนี้จะหันมาปลูกข้าวต่อไป แม้ว่า จะมีสารปนเปื้อนแคดเมียมก็ตาม ซึ่งตนเองได้พาคนในครอบครัวได้ไปตรวจเช็คร่างกายแล้ว ไม่มีสารแคดเมียมแต่อย่างใด
แต่อย่างไรก็ตาม ก็อยากให้มีการสำรวจสารปนเปื้อนแคดเมียมทุกแปลง เพื่อชาวบ้านจะได้รู้ว่า พื้นที่ไหนมีสารแคดเมียม หรือไม่
เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ที่ดูแลปัญหาสารแคดเมียมปนเปื้อน กล่าวในเรื่องนี้ว่า การแก้ปัญหาปนเปื้อนแคดเมียมในพื้นที่ โดยเฉพาะนโยบายส่งเสริมการปลูกพืชอื่นทดแทน เช่นโครงการปลูกอ้อยที่รัฐบาลส่งเสริมยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร โดยเฉพาะการที่เอกชนเข้ามาตั้งโรงงานเอทานอล เพื่อผลิตพลังงานทดแทนในพื้นที่ ยังไม่ทันต่อการรองรับเกษตรกรที่หันไปปลูกอ้อย คือ เปิดล่าช้าไม่ตามกำหนด และยังมีปัญหาเรื่องราคา ที่ไม่สามารถตกลงกันได้ ทำการปลูกอ้อยไม่ขยายพื้นที่เท่าที่ควร
รายงานข่าวแจ้งว่า กรณีข้าวปนเปื้อนแคดเมียมนั้น เมื่อปี 2552 ได้มีการนำเมล็ดข้าวไปตรวจสารแคดเมียม จำนวน 4,777 ไร่ พบว่า 1,583 ไร่ อยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ปลอดภัย ทางจังหวัดจึงขอรับซื้อเพื่อทำลายทั้งหมด และในปีนี้ ได้เช็คซ้ำอีกครั้งหนึ่ง โดยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ตามงานวิจัยที่ออกมาในพื้นที่กว่า 1,583 ไร่ พบว่ามีสารแคดเมียมปนเปื้อนเกินมาตรฐาน 1,027 ไร่
แต่ก็พบว่า บางครั้งในพื้นที่ที่มีสารแคดเมียมสูง กลับตรวจสารแคดเมียมในเมล็ดข้าวต่ำกว่ามาตรฐาน จึงไม่สามารถสรุปอะไรได้ ว่า มีปัจจัยอื่นๆด้วยหรือไม่