อุบลราชธานี-นักวิชาการด้านสถิติและวิทยาศาสตร์ถือผลพิสูจน์เครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดจีที 200 20 ครั้ง ทำงานจริงเพียง 4 ครั้ง ไม่ควรเสี่ยงนำเครื่องมือดังกล่าวไปใช้อีก เพราะไม่แม่นยำ แนะทางแก้กลับไปใช้เครื่องมือแบบเก่า และติดกล้องทีวีจงจรปิดเพิ่ม เพื่อลดบทบาทการเคลื่อนไหวของผู้ก่อเหตุ
ผศ.มนูญ ศรีวิรัตน์ อาจารย์ภาควิชาคณิตศาสตร์ สถิติ และคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ให้ความเห็นกรณี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี สั่งยกเลิกซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดจีที 200 และหยุดใช้เครื่องดังกล่าว หลังผลการพิสูจน์ความแม่นยำจากนักวิชาการจำนวน 20 ครั้ง แต่เครื่องดังกล่าวสามารถทำงานตรวจจับวัตถุต้องสงสัยเป็นระเบิดได้เพียง 4 ครั้งว่า ถ้าคิดตามสถิติทางคณิตศาสตร์คิดเป็นร้อยละ 20%
จึงต้องหยุดใช้เครื่องดังกล่าวทันที เพราะไม่มีความแม่นยำและเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ โดยเฉพาะชีวิตของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญไม่ควรมีข้อผิดพลาด
พร้อมทั้งเห็นด้วย ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งยกเลิกการสั่งซื้อเครื่องตรวจจับระเบิดที่เหลือ เพราะไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้และพี่น้องทั้งในภาคใต้ หรือตามส่วนต่างๆของประเทศ สำหรับการแก้ปัญหา เมื่อไม่มีเครื่องมือดังกล่าว ทหารตำรวจยังมีเครื่องใช้ตรวจจับระเบิดชนิดอื่นที่เคยนำมาใช้อย่างได้ผลมาแล้ว ก็ควรหันกลับไปใช้เครื่องมือแบบเดิมต่อไป
รวมทั้งให้มีการติดตั้งกล้องทีวีวงจรปิดเพิ่มขึ้น จะช่วยจำกัดวงการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ก่อเหตุได้ดีเช่นกัน
ผศ.มนูญ กล่าวอีกว่า การพิสูจน์ครั้งนี้ ทุกฝ่ายต้องยอมรับ เพราะมีกระบวนการพิสูจน์จากผู้เชี่ยวชาญเข้าร่วมตรวจสอบประสิทธิภาพการใช้งานถึง 3 ฝ่าย พร้อมทั้งเห็นว่าความผิดพลาดที่เกิดจากการนำเครื่องมือตรวจหาวัตถุระเบิดดังกล่าวมาใช้ รัฐบาลก็คงเดินหน้าหาข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นต่อไป