ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- “สกอ.” รุดตรวจสอบวิทยาลัยโคราช ฉาว ล่าสุดสั่งปิดหลักสูตรคณะพยาบาลศาสตร์ พร้อมให้การเยียวยาช่วยเหลือ นศ. กว่า 290 คน ให้เทียบโอนไปศึกษาต่อที่สถาบันอื่น ด้านวิทยาลัยฯ พร้อมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด ชี้หากจะเปิดสอนคณะพยาบาลฯ อีกต้องได้รับการรับรองหลักสูตรใหม่จาก สกอ.และสภาการพยาบาลก่อนคาดใช้เวลาอีกนาน ขณะรมว.ศึกษาธิการสั่งตั้ง กก.ตรวจสอบเอาผิดกับวิทยาลัยฯ ด้วย
วันนี้ (9 ก.พ.) ที่วิทยาลัยนครราชสีมา ถ.มิตรภาพ อ.เมือง จ.นครราสีมา รศ.กำจร ตติยกวี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) พร้อมด้วย รศ.ดร.ดรุณี รุจกรกานต์ ประธานอนุกรรมการรับรองสถาบันการศึกษาและหลักสูตรพื้นฐานสภาการพยาบาล และคณะ เดินทางมาตรวจสอบวิทยาลัยนครราชสีมา ภายหลังนักศึกษาคณะพยาบาลศาสตร์เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อตำรวจกองปราบปราม กรุงเทพฯ และ ตำรวจท้องที่ สภ.โพธิ์กลาง จ.นครราชสีมา ข้อหาฉ้อโกงหลอกลวง เนื่องจากวิทยาลัยฯ ไม่ได้รับการรับรองสถาบันจากสภาการพยาบาลตั้งแต่ปี 2550 แต่ยังเปิดรับนักศึกษาใหม่เข้ามา
โดยมี ร.อ.นพ.ศรัณย์ อินทกุล อธิการบดีวิทยาลัยฯ พร้อมคณะผู้บริหารให้การต้อนรับ และมีนักศึกษาของวิทยาลัยฯ มาชูป้ายเขียนข้อความให้กำลังใจและเข้ามอบดอกกุหลาบแก่อธิการบดี อยู่บริเวณทางขึ้นบันไดอาคารเรียน
ภายหลังคณะของ รศ.กำจร เดินทางถึง ร.อ.ดร.ศรัณย์ ได้นำขึ้นไปยังห้องประชุมชั้น 8 เพื่อรับฟังบรรยายสรุปพร้อมตอบข้อซักถามกรณีที่เกิดขึ้นซึ่งใช้เวลานานกว่า 1 ชั่วโมง โดยเปิดให้สื่อมวลชนร่วมกันสังเกตการณ์ตลอดช่วงการหารือกันด้วย
จากนั้นคณะของ รศ.กำจร ได้เข้าตรวจสอบห้องปฏิบัติการเรียนการสอนของวิทยาลัยก่อนจะพบปะกับผู้ปกครองและนักศึกษาคณะพยาบาลศาสตร์ในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน
รศ.กำจร ตติยกวี รองเลขาธิการกกอ. เปิดเผยว่า การเดินทางมาครั้งนี้เพื่อที่จะมารับฟังข้อมูลต่างๆ จากทางวิทยาลัยฯ ซึ่งได้ข้อสรุปว่าในการเยียวยานักศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากกรณีที่เกิดขึ้นนั้น ทางวิทยาลัยฯ พร้อมจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ในกรณีนักศึกษาที่อยู่ในระบบจำนวน 232 คน คือ นักศึกษาจากปี 1-4 ยินดีจะโอนย้ายไปศึกษาต่อที่สถาบันอื่น
รวมถึงนักศึกษารุ่นที่ 1 ที่จบการศึกษาออกไปแล้ว 63 คน จะต้องกลับเข้าไปเรียนในสถาบันอื่นให้ครบตามหลักสูตร โดยสามารถเทียบโอนหน่วยกิตได้แค่ช่วงที่เรียนใน 2 ปีแรกที่ทางวิทยาลัยฯ ได้รับการรับรองสถาบันจากสภาการพยาบาลเท่านั้นคือ ปี 2548-49 เท่านั้น
ส่วนนักศึกษาคณะพยาบาลศาสตร์ที่เข้าเรียนในปีการศึกษา 2550 เป็นต้นไปต้องเริ่มต้นเรียนใหม่ทั้งหมด
สำหรับสถาบันหรือสถานศึกษาที่จะรับโอนนักศึกษาไปนั้น สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)จะเป็นผู้ประสานงานให้ ซึ่งเรื่องนี้ทางกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุข โดยรัฐมนตรีว่าการทั้ง 2 กระทรวง มีความเป็นห่วงนักศึกษาเหล่านี้มากและได้ให้นโยบายไว้อย่างชัดเจนว่าจะต้องให้นักศึกษาได้รับการเยียวยาช่วยเหลืออย่างเต็มที่
สำหรับวิทยาลัยฯ นั้นจะต้องปิดการเรียนการสอนในหลักสูตรคณะพยาบาลศาสตร์ทั้งหมด หรือ ยกเลิกหลักสูตรเก่าทั้งหมด เพราะหลักสูตรเก่าที่มีอยู่ครบ 5 ปีจะต้องได้รับการรับรองจาก สกอ.ใหม่ รวมถึงไม่ผ่านการรับรองจากสภาการพยาบาลและสภาฯ ได้แจ้งชัดเจนแล้วว่าจะไม่ตรวจสอบให้อีกในหลักสูตรนี้ ฉะนั้นทุกอย่างจึงต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ทั้งหมด
หากวิทยาลัยฯ มีความตั้งใจที่จะเปิดการเรียนการสอนในหลักสูตรนี้ขึ้นมาใหม่อีก ก็สามารถทำได้แต่จะต้องได้รับการรับรองมาตรฐานหลักสูตรใหม่ของคณะพยาบาลศาสตร์ จาก สกอ. และได้รับการรับรองสถาบันจากสภาการพยาบาลก่อน โดยทางวิทยาลัยฯ จะต้องได้รับการรับรองจากสภาการพยาบาลให้ครบ 4 ปีต่อเนื่องในช่วงแรกและต้องมั่นใจว่าในช่วง 4 ปีนี้ทางวิทยาลัยฯ จะไม่มีปัญหาเหมือนที่เกิดขึ้นในปัจจุบันอีก ซึ่งการยื่นเอกสารขอเปิดหลักสูตรต้องทำตามขั้นตอนที่มีอยู่ คาดว่าคงต้องใช้เวลาพอสมควรและคงไม่แล้วเสร็จง่าย
“นอกจากนี้ทาง สกอ. ยังได้สั่งการให้วิทยาลัยฯ ตรวจสอบหลักสูตรและการรับรองจากสภาวิชาชีพใน คณะเทคนิคการแพทย์ ของวิทยาลัยฯ ที่เปิดสอนด้วย พร้อมกำชับอย่าให้มีปัญหาเหมือนคณะพยาบาลศาสตร์อีก” รศ.กำจร กล่าว
รศ.กำจร กล่าวอีกว่า ในการเยียวยาช่วยเหลือนักศึกษาคณะพยาบาลศาสตร์นั้น สกอ.จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปีการศึกษา 2552 นี้ เพราะนักศึกษาจะได้ไม่เสียชีเวลาไปมากกว่านี้ ส่วนค่าใช้จ่ายในเรื่องการเสียเวลานั้นจะพูดคุยกับนักศึกษาและผู้ปกครองอีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งในเบื้องต้นคิดว่านักศึกษาเหล่านี้ก็ได้ประโยชน์และได้รับความรู้จากการศึกษาที่นี่กลับไปพอสมควร
“กรณีปัญหาของวิทยาลัยนครราชสีมานี้ จะทำให้เป็นต้นแบบหรือเป็นตัวอย่างของสถาบันการศึกษาอื่น ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบกรณีเช่นนี้อยู่อีก 2-3 แห่ง ซึ่งจะได้ทำการตรวจสอบและดำเนินการต่อไป” รศ.กำจร กล่าว
รศ.กำจร กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามอยากฝากผู้ปกครองและนักศึกษาหากจะเข้าศึกษาในสถาบันใด โดยเฉพาะคณะพยาบาลศาสตร์หรือคณะอื่นที่จะต้องมีสถาบันวิชาชีพเข้ามารับรอง ขอให้ตรวจสอบให้แน่ใจก่อนสมัครเข้าเรียนว่าได้รับรองอย่างถูกต้อง หรือจะสอบถามรายละเอียดไปได้ที่ สกอ. เพราะการผลิตบุคลากรออกไปจะต้องมีคุณภาพ โดยเฉพาะพยาบาล ซึ่งเป็นอาชีพที่ต้องมีความรู้ความสามารถและเกี่ยวข้องกับชีวิตคนโดยตรงก็ยิ่งต้องเป็นบุคคลที่มีความสามารถในทุกด้านตามหลักสูตรที่ให้ไว้ด้วย
"ในส่วนของการเอาผิดกับทางวิทยาลัยฯ นั้น นายชินวรณ์ บุญเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบหมายให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ ซึ่งคาดว่าจะลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงในเร็ว ๆ นี้ ส่วนคดีอาญาที่นักศึกษาไปแจ้งความไว้นั้น ก็ให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ สกอ.พร้อมที่จะไปให้ข้อมูลตลอดเวลาหากได้รับการร้องขอเข้ามา" รศ.กำจร กล่าวในที่สุด