ตาก- พม่าไม่เอาโรฮิงญาเข้าระบบพิสูจน์สัญชาติ สั่งตรวจสอบเข้มเป็นพิเศษ ขณะที่ศูนย์ฯที่แม่สอด มีแรงงานพม่าผ่านพิสูจน์แล้วกว่า 10,000 คน
รายงานข่าวแจ้งว่า ที่บริเวนศูนย์ประสานงานอำนวยการการพิสูจน์สัญชาติ ชายแดนไทย-พม่า เชิงสะพานมิตรภาพฯ ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก ขณะนี้ได้มีแรงงานพม่านับ 1,000 คนต่อวันเดินทางมาจากกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด เพื่อพิสูจน์สัญชาติตามสำนักงานนายหน้าบริษัท ที่รับกรอกแบบฟอร์ม หลังจากที่ทราบข่าว และมีความเข้าใจเกิดขึ้น
ศูนย์ประสานการพิสูจน์สัญชาติพม่า จังหวัดตาก แจ้งว่า มีแรงงานพม่าเดินทางไปพิสูจน์สัญชาติเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากเริ่มมีความเข้าใจ ถึงผลดีการพิสูจน์สัญชาติที่รัฐบาลไทย กับรัฐบาลพม่าได้รับรองไว้ อย่างไรก็ตามทางการพม่า ได้มีการตรวจสอบกลุ่มโรฮิงญาเป็นกรณีพิเศษ
นายชัยชาติ ชูพันธ์ นักวิชาการแรงงานชำนาญการ ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าศูนย์ประสานการพิสูจน์สัญชาติแรงงานพม่า จังหวัดตาก กล่าวว่า ตั้งแต่ทางศูนย์ฯได้ทำการพิสูจน์สัญชาติแรงงานพม่า จนถึงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2552 มีแรงงานต่างด้าวชาวพม่าที่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติไปแล้ว 13,110 คน และผ่านการพิสูจน์สัญชาติจากทางการพม่า 10,041 คน แต่แรงงานต่างด้าวที่ยังไม่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ มี 1 คน ซึ่งเป็นชาวโรฮิงญา และทางการพม่าแจ้งว่า จะต้องตรวจสอบชาวโรฮิงยาเป็นกรณีพิเศษ แต่ถ้ามีบัตรประชาชนก็ไม่มีปัญหาอะไร
ขณะที่นายชัยยุทธ เสณีตันติกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก กล่าวว่า การขึ้นทะเบียนพิสูจน์สัญชาติของแรงงานต่างด้าวชาวพม่า ที่ศูนย์บริการ ชายแดนไทย-พม่า อ.แม่สอด ยังถือว่าน้อยมาก และระยะเวลาที่เหลืออีกไม่ถึงเดือน ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 28 ก.พ.53 จะสามารถจดได้อีกไม่เกิน 10,000 คน และเมื่อรวมกับ พื้นที่อื่นๆทั้งที่แม่สาย – ระนอง ก็จะจดได้ไม่เกิน 100,000 คน ซึ่งหมายถึงไม่ครอบคลุมแน่นอน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการขอขยายเวลาการจดทะเบียนไปอีก 2 ปี ต่อ ครม.และได้รับการอนุมัติแล้ว
“พม่า ไม่มีเครื่องมือในการตรวจพิสูจน์ที่พร้อม และเพียงพอกับจำนวนแรงงาน ประกอบกับ แรงงานพม่ากลัวว่าหากมีการจดทะเบียนไปแล้ว จะต้องเสียภาษีให้รัฐบาลพม่าเพิ่มขึ้น อีกทั้งฐานข้อมูลเดิมไม่มี การพิสูจน์บางครั้งยากจนต้องลงพื้นที่ไปยังบ้านของแรงงานที่ขอจดทะเบียน”
นายชัยยุทธ กล่าวต่อว่า ในส่วนของจังหวัดตากขณะนี้ผู้ประกอบการได้แจ้งรายชื่อที่จะขอจดทะเบียนพิสูจน์สัญชาติประมาณ 200,000 ราย หาก ไม่มีการขยายเวลาก็จะไม่ทันต่อการจดทะเบียน และต้องมีการใช้ระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วย